หลวงตา : ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะเอาเรื่องอะไรโลก ๆ มาคิด เราไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องอะไรมาคิด ไม่จำเป็นต้องไปวิเคราะห์ ไม่จำเป็นต้องไปบริกรรม หรือกำหนดอะไร ไม่ต้องพิจารณาอะไรเลย เราเฝ้าสังเกตมันจริง ๆ จะเห็นว่าสังขารมันเกิดเองดับเอง
การที่เราเห็นสังขารเกิดเองดับเอง... เรียกว่า “พิจารณา” แล้ว ที่บอกพิจารณา ๆ พิจารณากาย พิจารณาจิต... ก็พิจารณาแล้วนี่ไง
กายคืออะไร? ก็ “รูปที่ละเอียดที่สุด ที่จิตเราเอามาปรุง” นี่แหละ
โยม 1 : แต่มันไม่เห็นทุกข์น่ะค่ะ
หลวงตา : ทุกข์ก็คือเราหลงไปเป็นสังขาร นั่นน่ะทุกข์ เมื่อไหร่พ้นสังขารจึงเห็นว่าพ้น มันไม่ทุกข์อะไรเลย
เมื่อไหร่ที่พบความไม่สังขาร คือ เห็นสังขารเกิดดับอยู่ในวิสังขาร สังขารก็ปล่อยให้สังขารอย่างเก้อ ๆ และก็เกิดดับอยู่ในวิสังขารอย่างเก้อ ๆ คนยึดถือไม่มี เราจึงรู้ว่า.. อันนี้มัน “โคตรสุขที่สุด” เลย
เพราะฉะนั้น พอหลุดไปยึดแค่นั้นแหละ หลงไปเป็นสังขารจึงรู้ว่าทุกข์เลย
ความทุกข์ที่พูดเนี่ย ไม่ได้ทุกข์อย่างชาวโลกที่ทุกข์แสนสาหัส ที่ไปยึดถือกันอย่างนั้น แค่มันไปพบสังขารเกิดเองดับเองในความไม่เกิดดับ แล้วคนยึดถือไม่มี ผู้รู้ก็ไม่มีตัวตน มีแต่ “ความรู้ที่ไม่มีตัวตนของผู้รู้และผู้ยึดถือ” มันเหมือนกับอย่างนี้...
“ใจ” ที่ไม่เกิดไม่ดับเป็นเหมือนความว่าง แต่สังขารเกิดดับ เหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่ง ติ๊กต่อก ๆ ๆ เหมือนเครื่องเล่นให้จังหวะดนตรีน่ะ สมมุติเวลาจะเล่นเปียโน เขาก็จะไปกดเครื่องให้จังหวะ มันก็ดีดติ๊กต่อก ๆ ๆ ๆ มันติ๊กต่อกโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องเป็นคนทำติ๊กต่อก จิตมันก็เลยกลายเป็นติ๊กต่อกโดยอัตโนมัติในความไม่เกิดดับ
เครื่องเล่นให้จังหวะดนตรีที่มีเข็มให้จังหวะ เวลาเขาจะเล่นดนตรี เล่นเปียโน เขาก็จะมีเครื่องติ๊กต่อกอย่างนี้ ไอ้ตัวติ๊กต่อกเนี่ย.. มันติ๊กต่อกได้เพราะอะไร? มันมีความว่าง ถ้ามันไม่มีความว่าง มันติ๊กต่อกไม่ได้หรอก
จิตเราเหมือนเข็มเครื่องเล่นดนตรีที่มันติ๊กต่อก ๆ ๆ ๆ ตลอดเวลา ไม่มีใครต้องไปทำจิตให้มันติ๊กต่อก ๆ ๆ และไม่มีใครต้องไปทำความว่าง แต่มันเป็น “ธรรมชาติคู่กัน”
ถ้ามันติ๊กต่อกได้ เคลื่อนที่ได้ มันต้องมีความว่าง มันเป็นธรรมชาติคู่กัน แยกจากกันไม่ได้ มันแยกจากกันไม่ได้นะถ้ายังไม่ตาย ติ๊กต่อกก็ต้องติ๊กต่อกไปตลอดเวลายังมีชีวิตอยู่
เพราะว่าไอ้ตัวติ๊กต่อกเนี่ยเป็นเครื่องปรุงที่ทำให้มีชีวิต ถ้าไอ้ติ๊กต่อกตายปุ๊บ! ตายเลย!
โยม 2 : ติ๊กต่อก ๆ จะเห็นก็ต่อเมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญา รวมกันในขณะจิตเดียวใช่มั้ยครับ
หลวงตา : ใช่ ๆ คือไม่ได้ตั้งใจ จงใจ เจตนา พยายามไปดูมัน ไม่มีความเจตนา จงใจ ตั้งใจ พยายามจะไปดูมัน น้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง ปรมาณูหนึ่งก็ไม่มี และฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นก็ไม่มี
ทั้งไม่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นนะ แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจ จงใจ เจตนา พยายามจะเข้าไปดู ไม่มีการบริกรรม ไม่มีการกำหนด ไม่มีการอะไร ไม่ได้แยกแยะอะไรเลย อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด แต่อยู่เฉย ๆ ไม่ใช่ว่านั่งสมาธินะ คืออยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ อยู่เฉย ๆ จริง ๆ แต่ไม่ใช่ว่าไปนั่งสมาธิ
คือในอิริยาบถใดก็ได้ที่ท่านไม่ได้มี “การกระทำ” อะไรขึ้นมาเลย เพราะถ้าท่านกระทำขึ้นมา “กิริยา” ที่ท่าน “กระทำ” มาขวางหมด
น้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง ถ้าท่านกระทำขึ้นมาปุ๊บ “กิริยาที่กระทำ” ขวางหมดเลย... มันจะต้องไม่มีการกระทำอะไรเลย
หลวงตาจะสังเกตเห็นมันชัดตอนหลวงตานอนตะแคงขวา พอจะหลับแล้ว ไม่คิดจะทำอะไร ไม่กำหนด ไม่พิจารณา ไม่อะไรเลย ไม่กำหนดที่อะไรเลย นอนตะแคงขวาเพื่อไม่ให้มันหลับไปง่าย ๆ ไม่คิดจะทำอะไร เดี๋ยวจิตมันก็ติ๊กต่อก ๆ ๆ ๆ ของมันน่ะ มันก็ติ๊กต่อกของมันไป แล้วก็รู้แก่ใจว่าคนยึดถือไม่มีหรอก จิตมันก็ติ๊กต่อกอยู่ในความไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีอะไรเลย
คนไปยึดถือจิตที่ติ๊กต่อกก็ไม่มี คนไปยึดถือความว่างนั้นก็ไม่มี มีแต่ความรู้แก่ใจว่าจิตมันก็ติ๊กต่อก ๆ ไปจนกว่าจะตาย ไอ้ตัวที่ติ๊กต่อกนี่ก็ดับ แล้วก็เหลือแต่ “ความไม่ยึดถืออะไร” ได้แต่รู้ความจริงว่าความยึดถือไม่มี
ความที่ “รู้ความจริงว่าไม่มีใครยึดถือ” เนี่ย มันก็ไปรวมกับความว่าง ที่จิตมันติ๊กต่อกอยู่ในความว่าง มันก็ไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เข้าใจมั้ย?
โยม 2 : เข้าใจครับ
หลวงตา : พวกท่านปฏิบัติแบบฟังเราแล้ว ถึงเวลาปฏิบัติ ปฏิบัติไม่เป็น ฟังให้ตาย แต่เวลาไปปฏิบัติ... งง? คนละเรื่องเลย... ฟังให้ตาย พอถึงเวลาปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไม่เป็น ได้แต่กรรมวิธีเฉย ๆ
โยม 3 : มีวิธีอื่นนอกจากตะแคงขวามั้ยครับ
หลวงตา : อีกอย่างที่หลวงตาเห็นคือตอนนั่งส้วม ไปทำตอนอื่นก็ไม่ได้ ไม่รู้เป็นอะไร เพราะอะไร? เพราะว่าถ้าจะไปทำตอนอื่นนะ เรา “อดไม่ได้ที่จะทำ” คือมันน้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง เราจะต้องเริ่มทำทันทีเลย คือเราจะต้องไปดูจิต อดไม่ได้เลย!
ถ้าไม่นั่งส้วม หรือไม่นอนตะแคงขวา เราอดไม่ได้ที่จะทำ พอเราจะนั่งเฉย ๆ ไม่ทำอะไร แต่ไอ้ที่มันนั่งเฉย ๆ น่ะ... มันทำแล้ว
ใช่มั้ย?... นี่ทำแล้วนะ ที่พยายามมานั่งเฉย ๆ น่ะทำแล้ว ทำตั้งแต่มาเริ่มนั่งแล้ว ไม่งั้นจะมานั่งทำไม!!!
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากสนทนาธรรมกับคณะศิษย์
ณ พุทธธรรมสถานปัญจคีรี
วันที่ 31 ธันวาคม 2562
~~~~~~~~~~~~~~~~