หลวงตา : "นิพพาน" คือ จิตมันว่างงาน ความรู้สุดท้าย รู้อะไรเล่า รู้ว่าปลดเกษียณจริง ปลดเกษียณทางใจจริง
โยม 1 : อย่างนี้แสดงว่าตราบใดที่เรายังไม่รู้สึกว่าเราว่างงาน เราก็ยังมีหน้าที่ที่ต้องทำ
หลวงตา : พูดทางโลกหรือว่าพูดทางใจ ที่ว่าเรารู้สึกว่ายังต้องทำงาน
พูดทางใจมันก็จะรู้เองว่าใจเรามันยังไม่ว่างจริง เราคอยจะไปหางานทำเรื่อย วิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย เดี๋ยวก็วิเคราะห์ อยู่ ๆ ก็วิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 4 : มันยังไม่เบื่อ
หลวงตา : มันยังไม่เบื่อกับการวิเคราะห์
สรุปแล้วคือไม่รู้เท่าทันสังขารที่วิเคราะห์ แล้วเราหลงไปเป็นสังขารที่วิเคราะห์ เราไม่รู้เท่าทัน แล้วเราจะไปของานทำ แล้วเราก็ทำงานจริง ๆ เรายังไม่เห็นว่ามันเป็นสังขาร เรายังไม่เบื่อกับสังขาร
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 1 : อย่างนี้ก็แสดงว่าถ้าใครมีปัญญารู้ทัน ว่าตัวที่เป็นปัญญาไปนั่งไล่วิเคราะห์โน่นนี่นั่น ในตัวผู้รู้นี่ เป็นตัวสังขาร
หลวงตา : นั่นคือปัญญาวิมุตติเลย เป็น "ปัญญาวิมุตติ"เลย
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 5 : แต่มันต้องยอมจริง ๆ ค่ะหลวงตา
หลวงตา : ยอมคือต้องเห็น ต้องเห็นว่ามันเป็นสังขาร แล้วความทุกข์มันยังไม่สิ้น ก็เพราะว่ายังสังขารอยู่ คือยังไม่ปลดเกษียณจริง
เห็นเป็นสังขารแล้วก็เห็นว่า มันเป็น "สมุทัย" แล้วเป็นทุกข์จริง ๆ คือมันเห็นสังขารจะเห็นทุกข์พร้อมกันเลย เห็นทั้งสมุทัยและทุกข์พร้อมกัน
ยังสังขารอยู่นี่มันยังเป็นสมุทัย แล้วก็ความทุกข์มันไม่สิ้นจริง ๆ มันจะเห็นทั้งสังขารเห็นสมุทัย และทุกข์ ในหน้าฝ่ายทุกข์ แต่เพราะเห็นทั้งสังขาร และเห็นทั้งทุกข์ มันก็เลยดับทั้งสังขารและดับทุกข์ เลยเป็นมรรค เป็นนิโรธ
แต่ตอนที่รู้เท่าทัน ขณะจิต ๆ อยู่เนี่ย มันก็จะเป็นทุกข์เป็นสมุทัย พอรู้เท่าทันก็เป็นมรรค เป็นนิโรธ
แต่มันขาดหมดแล้ว จบหมดเลย มันเหลือความรู้สุดท้ายว่าสิ้นสุดแล้ว อันนี้มันพ้น "กิริยาจิต" พ้นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เป็น "ขณะจิต" มันไม่มีการหลงเป็นขณะจิต และก็รู้เท่าทันเป็นขณะจิต
มันสิ้นสุดเลย แต่มันก็ต้องผ่านจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มาก่อน
สังโยชน์ ๑๐ น่ะ มันยังเป็นตัวที่ ๙ คือฟุ้งในธรรม มันมาถึงสังโยชน์ตัวที่ ๙ (อุทธัจจะ) ทำไมมันมาจนถึงตัวที่ ๙ มันจะนิพพานแล้ว ตัวที่ ๑๐ (อวิชชา)
ก็อย่างอื่นมันไม่ฟุ้งแล้ว เรื่องกิเลสเรื่องโลกมันไม่ฟุ้งแล้วมันมาฟุ้งในธรรมนี่ไง มาฟุ้งในธรรมยังไม่จบสิ้น
พอมันจบสิ้นตัวที่ ๙ (อุทธัจจะ) ตัวที่ ๑๐ (อวิชชา ) มันจบพร้อมกันเลย "อวิชชา" กับ ฟุ้งในธรรม
ก็คือว่า "อะวิชชาปัจจะยา สังขารา" นี่แหละ เพราะความไม่รู้เท่าทันหลงไปเป็นสังขาร คือ ฟุ้งในธรรมกับอวิชชา มันก็แทบจะว่าเพราะ "อะวิชชาปัจจะยา สังขารา"
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 4 : อ้อ ... อวิชชาไม่หมดมันก็เลยยังฟุ้งในธรรมอยู่
หลวงตา : ใช่ ๆ อวิชชามันไม่หมด มันก็เลยหลงสังขาร เพราะหลงสังขารมันก็เลยเป็นอวิชชา
พูดยังไงก็ถูก คือเพราะคุณหลงสังขารอยู่ คุณหลงไปเป็นสังขารอยู่ คุณยังไม่เลิกการทำงาน เพราะคุณไม่เห็นสังขารไม่รู้เท่าทันสังขาร คุณก็เลยเป็นอวิชชาอีก
เพราะคุณหลงสังขารอยู่ คุณเลยเป็นอวิชชา หรือว่าจะพูดบอกว่าเพราะคุณยังมีอวิชชาอยู่ คุณไม่รู้เท่าทันคุณยังหลงไปเป็นสังขาร พูดอะไรก็ถูก เพราะว่าคู่ใกล้กันเนี่ย มันเป็น "ทั้งเหตุและผล" ด้วยตัวมันเอง
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 1 : อย่างนี้คนที่ยังหลงว่าการที่มีปัญญานั่งไล่วิเคราะห์ในผู้รู้อยู่ เป็นเพราะว่าเขารู้สึกว่าตัวนี้มันมีคุณค่าเหนือกว่าตัวอื่น เขาเลยไม่ยอมปล่อยวาง ตัวนี้มั้ยคะ
หลวงตา : มันก็เลยเป็น "อะวิชชาปัจจะยา สังขารา" ทีนี้ปฏิจจสมุปบาทก็ไม่สิ้น
แต่ถ้าเขามีปัญญาปิ๊ง! ขึ้นมา เฮ้ย ... ไอ้นี่มัน "อะวิชชาปัจจะยา สังขารา" ไม่ใช่หรือวะ...? ถ้าตราบใดต่อให้มีความรู้ให้มากให้ตาย มันจะนิพพานได้ยังไง เพราะมันเป็น "อะวิชชาปัจจะยา สังขารา"
มันต้อง ..... "อะวิชชายะเตววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ" คืออวิชชาดับไป สังขารก็ดับ หรือสังขารดับ (ความหลงไปเป็นสังขารดับ) อวิชชาก็ดับ ดับหมดเลย แล้วทีนี้ข้างหลังก็ดับหมด พอหัวดับหมด ข้างหลังก็ดับหมด
"แต่เพราะความที่ว่า... ถ้าไม่นั่งวิเคราะห์ไม่นั่งไล่รู้แบบนี้ เดี๋ยวมันก็โง่ตายเลย"
โยม 1 : เมื่อไหร่มันจะยอมวางอะไรอย่างนี้
หลวงตา : แต่ครั้นไม่วิเคราะห์ก็โง่จริง ๆ อีก เพราะอะไร? อย่างนั้นต้องรีบวางมัน เดี๋ยวมันไม่จบซะที!!" ทีนี้วางมันโดยไม่รู้เรื่องอะไร ... ฟุ้งซ่านเลย
โยม 1 : มันก็มีตัวอยาก อยากรีบไปวางอีก
หลวงตา : มันต้องวางด้วยความรู้ความเข้าใจ ด้วยความเห็นว่ามันเป็น ""อะวิชชาปัจจะยา สังขารา"
ถ้ายังหลงสังขารอยู่ ปฏิจจสมุปบาทก็ไม่สิ้นสุด จะต้องไปเกิดใหม่ เวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์ มันต้องเห็นโทษตรงนี้ พอเห็นโทษปุ๊บ! พอสังขารขยับมามันไม่เอาเลย มันไม่ยอมหลงสังขารเลย
แต่พอไม่ยอมหลงสังขาร มันก็จะพยายามรักษาตัวเองไม่ให้ไปหลงสังขาร มันจะมาติดตรงนี้อีก
มันจะไม่ให้หลงสังขาร มันเบื่อสังขารแล้ว แต่ถ้ามันมารักษาตัวเองเพื่อไม่ให้ไปเป็นสังขาร สุดท้ายการที่รักษาตัวเอง มันเลยรู้ว่า อันนี้คือสังขารอยู่
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 1 : คือเหมือนมันจะย้อนไป ย้อนมา ย้อนไป ย้อนมา
หลวงตา : ใช่ ๆ อย่างเนี้ยแหละ ... ตัวสุดท้ายมันจะเป็นสังโยชน์ตัวที่เก้าที่สิบ ที่ยังวุ่นวายมากเลย คือ ฟุ้งในธรรม กับอวิชชามันจะคู่กันติดกัน ถ้าดับ ดับไปพร้อมกันเลย
โยม 1 : อย่างนี้ถ้าหลักเราแม่นว่า ไม่ว่าจะเป็นยึดในผู้ฟุ้ง หรือไม่ยึดในผู้ฟุ้ง มันก็เป็นสังขาร มันไม่มีตัวตนของเราจริง ๆ อยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว
มันจะเป็นอะไรก็ปล่อยมัน คือรู้มันเห็นมัน เข้าใจ ก็แค่นั้น
หลวงตา : ใช่ ๆ คือวางด้วยความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากสนทนาธรรมกับคณะศิษย์
ณ พุทธธรรมสถานปัญจคีรี
วันที่ 31 ธันวาคม 2562
~~~~~~~~~~~