เมื่อไหร่ที่ยกอะไรขึ้นมา ยกเหตุผลอะไรขึ้นมา มันเท่ากับไปจับขวดน้ำ น้ำในขวดนี้ย่อมกระเพื่อม
ถ้ายังไม่เลิกก็จับขวดน้ำไว้ จับไว้ให้ตายดูสิน้ำในขวดเมื่อไหร่มันจะสงบ
มันไม่ยอมวางการหาวิธีเพื่อตัวเรา มันก็เลยเป็น "อวิชชา" เพื่อตัวเรา
เพราะว่าใครเป็นคนหาวิธี? ก็ตัวเราหาวิธี
หาวิธีเพื่อใคร? เพื่อตัวเรา
มันก็กลายเป็นสังโยชน์ มันก็เป็นสังโยชน์ตัวที่แปด เก้า สิบ คือ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ทั้งหมดเลยทีนี้ มันเท่ากับไม่ยอมวางขวดน้ำอยู่ดี
จะถามวิธีวางขวดน้ำอยู่นั่นแหละ ถ้าถามวิธีวางขวดน้ำไม่มีทางที่จะวางหรอก ถ้าอยากวางขวดน้ำ แสดงว่ายังไม่วาง พอวางไปแล้วไม่มีอยากวาง
หนูอยากวางแต่ทำไมหนูยังวางไม่ได้ แสดงว่ายังไม่วาง
พอไม่หาวิธี เงียบเลย เงียบสงบทั้งภายในภายนอก พวกเราก็เจอกันบ่อย ๆ ไม่รู้จักจำเอง
เมื่อก่อนเราก็สงสัยว่า เอ ... ทำไมพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านว่า พบใจพบธรรม ถึงใจถึงพระนิพพาน ทำไมต้องพบ แล้วก็ถึง ไม่พบแล้วก็ถึงพระนิพพานไปเลย งงมากเลย มันแค่เคยพบมัน แต่เราก็เคยเจอมันบ่อย ๆ แล้ว
พออ้าว อยู่เฉย ๆ มันเงียบไปหมดเลย สงัดไปทั้งโลกธาตุเลย แต่เสร็จแล้วเราก็ปรุง ลุกขึ้นมาปรุงต่อ เต้นเร่า ๆ ๆ ต่ออีก จะเอา ๆ กูจะเอาต่ออีก
เนี่ยพอมันหยุดปรุงหยุดหาเหตุผลอะไรนะ เงียบสงบสงัดไปหมดเลย ไม่มีความทุกข์ยากลำบากอะไรเลย
พอพยายามยึดสภาวะนี้ เท่ากับไปจับขวดน้ำไว้ มันอยู่ของมันมันก็เงียบของมันอยู่ดี ๆ อยากได้สภาวะนี้ พอไปจับ ... ขวดน้ำกระเพื่อมเลยทีนี้
เราแค่รู้มัน แต่ไปจับมันไม่ได้ นี่เขาถึงบอกว่า แค่รู้มัน แต่ไปจับยึดมันไม่ได้ เขาถึงว่า "สักแต่ว่ารู้" จึงนิพพาน
"สักแต่ว่ารู้" คำนี้มีค่าความหมายมากเลย สักแต่ว่ารู้ถึงใจเลยทีนี้ คือ น้ำในขวดไม่กระเพื่อมเลย ถูกวางไว้เป็นธรรมชาติแล้ว คือ "สักแต่ว่ารู้นิพพาน"
ความที่ไม่กระเพื่อมอย่างเป็นธรรมชาติ นี่คือนิพพาน
คือ สักแต่ว่ารู้นิพพาน อย่างเป็นธรรมชาติของมัน
แล้วก็ไม่คิดหมายจะไปจับขวดน้ำขึ้นมาอีก คือจะยึดไว้
พอไปจับยึดไว้เอามาเป็นของเรา ... กระเพื่อมเลย
ความไม่รู้อันนี้เขาถึงเรียกว่า "อวิชชา"
เราเคยพบมันบ่อย ๆ แล้วเรากลับไปเป็นอวิชชาอีก พอเราพบความที่ไม่กระเพื่อมโดยธรรมชาติ พอท่านไม่จับไม่อะไรเลย น้ำในขวดก็นิ่งเงียบ ก็สงบสงัดไปหมดเลย
พอท่านพบ น้ำมันนิ่งเงียบสงบ ท่านไม่อยากให้มันกระเพื่อมอีกท่านเอามือไปประคองมันเลย อยากให้มันนิ่งเงียบสงบ แล้วไม่ให้มันกระเพื่อมอีกต่อไป
ทันทีที่ท่านไปประคอง น้ำในขวดก็กระเพื่อม แล้วท่านก็มีปัญญารู้ว่า ทุกครั้งที่เราเข้าไปประคอง เราไปวุ่นวายอยากให้มันเงียบสงบสงัดเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
ทุกครั้งมันก็จะกระเพื่อมทุกครั้ง
มันเป็นการเรียนรู้ แล้วมันก็จะเข็ด ค่อย ๆ เรียนรู้ แล้วมันก็ค่อย ๆ วาง วาง วาง
คราวนี้ก็แค่รู้มัน แค่เห็นมัน แต่ไม่ไปจับมันไม่ไปยุ่งวุ่นวายกับมัน
นั่นเขาเรียกว่า "นิพพาน"
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากสนทนาธรรมกับคณะศิษย์
ณ พุทธธรรมสถานปัญจคีรี
วันที่ 31 ธันวาคม 2562
~~~~~~~~~~~