โยม : กราบนมัสการองค์หลวงตาเจ้าค่ะ
กราบขอโอกาสถามข้อสงสัยเจ้าค่ะ
พอดีหนูอ่านเจอที่ถอดไฟล์เสียงชื่อ ธรรมชาติแท้ แท้โดยธรรมชาติ ที่กล่าวไว้ว่า...
ในขณะจิตหนึ่งแค่นั้นแหละ มันเงียบสงบไปทั้งโลกธาตุทั้งภายในภายนอก มันระเบิดโลกธาตุนั้นไปเลย ระเบิดอวิชชาที่ห่อหุ้มจิตเดิมแท้ เหมือนระเบิดห้องกระจกแหลกออกไปทุกด้าน
"ใจ" มีแต่ความว่างเปล่าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ "ใจ" เป็นธาตุรู้ แต่ไม่มีตัวตน มันเหมือนกับเป็นความว่างเปล่าหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ แต่ "รู้" นี้ไปรวมกับความว่างของธรรมชาติแล้ว
ดังนั้นธรรมชาติของ "รู้" หรือ "พุทธะ" ไม่ใช่เป็นตัวเราที่เป็นพุทธะ ไม่ใช่ตัวเราเป็นผู้รู้ แต่เป็นธรรมชาติของ "ธาตุรู้ที่บริสุทธิ์" ที่ไร้ตัวตน เพราะอวิชชาดับไปแล้ว มันไปรวมกับความว่างของธรรมชาติ
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ที่ใดมีความว่าง ที่นั่นมี "รู้" หรือ "ความรู้" หรือ "ธาตุรู้" ที่เป็นพุทธะ รู้สิ้นยึด รู้สิ้นหลง รู้ตื่น รู้เบิกบาน ตลอดกาลอยู่ในความว่าง
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากไฟล์เสียง
180730A-5 ธรรมชาติแท้ แท้โดยธรรมชาติ
30 กรกฎาคม 2561
~~~~~~~~~~
โอวาทธรรมอ้างอิง
http://www.luangtanarongsak.org/home/index.php/2017-10-14-13-20-39/2017-10-14-13-21-12/2017-10-14-13-21-13/item/4291-11-nov03-62-ot61-32
ไฟล์เสียงอ้างอิง
https://youtu.be/p0Q98oylcBA
~~~~~~~~~~
ในท่อนที่สองที่มีเนื้อหาว่า
"ใจ" มีแต่ความว่างเปล่าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ "ใจ" เป็นธาตุรู้ แต่ไม่มีตัวตน มันเหมือนกับเป็นความว่างเปล่าหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ แต่ "รู้" นี้ไปรวมกับความว่างของธรรมชาติแล้ว
หนูขอความเมตตาองค์หลวงตาขยายความให้ด้วยเจ้าค่ะ
เพราะอ่านแล้ว"ใจ"ที่เป็นธาตุรู้คือสิ่งนึง
ส่วน "รู้" ก็เป็นอีกสิ่งนึงเจ้าค่ะ
หนูกราบขอความเมตตาด้วยเจ้าค่ะ
กราบ กราบ กราบ เจ้าค่ะ
หลวงตา :
"รู้" ที่มีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้รู้ อย่างนี้เป็นรู้ที่เป็นอวิชชา มีความเกิดดับ จะมีจุดหรือต่อมที่ตั้งของผู้รู้
ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมจะรู้สึกถึงจุดหรือต่อม "ผู้รู้" ซึ่งเป็นสังขารปรุงแต่งนี้ได้ว่า อยู่ในตัว อยู่ในหัว หรือ อยู่ในความคิด ความรู้สึกที่กลางตัวบริเวณภายในหน้าอก
ส่วน "ธาตุรู้" ที่สิ้นอวิชชา มีแต่ความรู้ ไม่มีจุดหรือต่อมผู้รู้ ไม่มีตัวผู้รู้ ไม่มีอะไรปรากฏการปรุงแต่งเกิดดับ *****ไม่มีจุดหรือต่อมที่ตั้ง จะรู้ว่าไม่มีตัวตนของผู้ยึด ไม่มีตัวตนของผู้ปล่อยวาง มีแต่ความรู้อย่างไรก็รู้อย่างนั้นในปัจจุบันขณะ หรือเป็นธรรมชาติของธาตุรู้ที่เขาได้แต่รู้ซื่อ ๆ
ธาตุรู้บริสุทธิ์ตามธรรมชาตินี้รวมกับธาตุดิน (ของแข็ง) น้ำ (ของเหลว) ลม (พลังงานเคลื่อนไหว) ไฟ (ความร้อน ความอบอุ่น) อากาศ (ความว่าง) และ ธาตุรู้เป็นเหมือนความว่างของอากาศ แต่มีความรู้ ซึ่งได้แต่รู้อย่างตรงไปตรงมา ไม่อาจยึดถือ หรือ ทำกริยาปล่อยวางได้
ไม่ทราบว่าตรงกับที่สงสัยอยู่หรือเปล่า?
โยม : กราบขอโอกาสเจ้าค่ะ คือ ท่อนที่สององค์หลวงตากล่าวถึง "ใจ" ว่าเป็นธาตุรู้ที่ไม่มีตัวตน เหมือนความว่างเปล่าหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
แต่ "รู้" นี้ไปรวมกับความว่างของธรรมชาติแล้ว
คือ ที่ผ่านมาหนูเข้าใจว่า "ใจบริสุทธิ์" ก็คือ ใจที่ได้แต่รู้ เจ้าค่ะ
แต่พออ่านท่อนสองนี้แล้วเหมือน "รู้" รวมกับธรรมชาติไปก่อนแล้ว เหลือ "ใจ" ที่ยังไม่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ เลย งง เจ้าค่ะ
กราบขอความเมตตาองค์หลวงตาช่วยอธิบายด้วยเจ้าค่ะ
กราบ กราบ กราบ เจ้าค่ะ
หลวงตา :
ธาตุรู้ตามธรรมชาติ ที่ยังมีอวิชชา คือ ความไม่รู้สัจธรรม
ว่าขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ ชีวิตที่เกิดมา เกิดจากการผสมปรุงแต่งของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และ ธาตรู้ (วิญญาณธาตุ) จึงหลงยึดมั่นถือมั่นขันธ์ห้าว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
เมื่อธาตุรู้ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะ มีอวิชชา ดังนั้น เมื่อมีการกระทบหรือผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในปัจจุบันขณะ จึงมีความคิดหรือความรู้สึกว่าเราเป็นคนรู้ แล้วมีความดิ้นรนทะยานอยากไปตามความพอใจ (สุขเวทนา) ความไม่พอใจ (ทุกขเวทนา) ความไม่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ (อทุกขมสุขเวทนา) เป็นความเพลินใจ
ความรู้นี้จึงเป็นสังขารปรุงแต่ง (ธาตุรู้ + อวิชชา)
จนกว่าจะมีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เห็นออกมาจากใจว่า ในความรู้แต่ละขณะจิตปัจจุบัน มีความคิดปรุงแต่งเป็น อวิชชา ตัณหา อุปาทานปนอยู่ในรู้ ทำให้เกิดความหลงยึดมั่นถือมั่น ไม่เป็นธรรมชาติที่ได้แต่รู้ ที่ไม่มีตัวตนของผู้รู้ ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ
เมื่อรู้เท่าทันอวิชชา ตัณหา อุปาทานในขณะจิตปัจจุบัน ก็จะเหลือแต่ความรู้ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติ โดยไม่มีอวิชชาตัณหา อุปาทานผสมปนอยู่ในรู้อีก
เป็นธาตุรู้บริสุทธิ์ หรือ จิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์ ที่เป็นเหมือนความว่างของธาตุอากาศ
แต่ธาตุอากาศเป็นความว่างที่ไม่มีความรู้ หรือ เป็นความว่างที่ถูกรู้ ส่วนธาตุรู้บริสุทธิ์เป็นความรู้ที่ไม่มีตัวตนของผู้รู้ ไม่มีจุดหรือต่อมผู้รู้ ไม่มีอาการปรุงแต่งเกิดดับ เป็นธรรมชาติที่รู้เขา ไม่ได้เป็นธรรมชาติที่ถูกรู้ จึงไม่เหมือนกับความว่างของธาตุอากาศ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ถูกรู้
มีปัญหาถามว่า เมื่อ ธาตุรู้บริสุทธิ์ หรือ จิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติที่ไม่อาจจะถูกรู้ได้ แล้ว อะไรล่ะที่รู้ธาตุรู้บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์
ตอบว่า ธาตุรู้บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่า "นิพพาน" หรือ "พุทธะ" เขารู้จักเขาเอง หรือ ใจย่อมรู้ใจ หรือ นิพพานย่อมรู้นิพพาน
เมื่อธาตุรู้บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์ เป็นความไม่มีตัวตน รูปลักษณ์ ไม่มีอะไรปรากฏ ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ จึงแทรกซึมได้ในทุกธาตุ ทั้งธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ (ความว่าง) หรือ เรียกว่าเป็นหนึ่งเดียวกับทุกธาตุ หรือ เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุตั้งแต่ธาตุขันธ์ยังไม่แตกดับ
ครั้นสิ้นอายุขัย ธาตุขันธ์แตกดับ ธาตุรู้บริสุทธิ์ (เพราะสิ้นอวิชชา) ก็ไปรวมกับความว่างของอากาศ และแทรกซึมอยู่ในทุกธาตุของธรรมชาติ แทรกซึมอยู่ในทุกสรรพสัตว์ด้วย
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
5 พฤศจิกายน 2562
~~~~~~~~~~~~~~~