สติปัญญา มันไม่ขาด มันก็ไม่ได้ยึดถืออะไร
เพราะมันเป็นธรรมชาติของ ความรู้ ธาตุรู้ ของ อมตธาตุ
นิพพานธาตุ สุญญตาธาตุ มันเป็น "วิสังขาร" เป็น "อสังขตธาตุ"
มันเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งไม่ได้ หรือ เป็นธรรมธาตุที่ปรุงแต่งไม่ได้ มันได้แต่รู้... ได้แต่รู้.... ได้แต่รู้
มันคิดปรุงแต่ง เข้าไปยึดอะไรไม่ได้ ทำกิริยาปล่อยวางอะไรก็ไม่ได้
ส่วนความสุข และ ทุกข์ เป็นเรื่องของ "ขันธ์ห้า"
เป็นเรื่องของอาการ มันเป็นเงา... เป็น มายา... มันเหมือนเป็นรูปอยู่ในกระจก ตัวเราที่มีความสุขความทุกข์ มันก็เหมือนรูปตัวเราในกระจก ที่สะท้อนให้ "ใจ" ได้รู้
แต่แท้จริงน่ะ ผู้รู้มันอยู่นอกกระจก
มันไม่ใช่รูปเงาตัวเราในกระจก
ธรรมชาติรู้ มันรู้ตัวเรา (ขันธ์ห้า หรือ กายสังขาร วาจาสังขาร
จิตตสังขาร) ตลอด
ไม่ใช่หลงยึดถือขันธ์ห้าเป็นตัวเรา แล้วหลงเอาตัวเรา
ไปรู้สังขารของขันธ์ห้า และ
ไม่ใช่หลงยึดถือขันธ์ห้าเป็นตัวเรา แล้วหลงเอาตัวเรา
ไปหาธาตุรู้ ซึ่งเป็นวิสังขาร มหาสุญญตาธาตุ หรือ นิพพานธาตุ
เพราะฉะนั้นเราคิด เราพูด เรากระทำ เรามีความสุข ความทุกข์
มีความผ่องใส มีความเศร้าหมอง ไม่ว่าจะไปอยู่ในที่ลับที่แจ้งยังไงก็ตาม มันก็เป็นเงาของตัวเราในกระจก ที่สะท้อนให้ใจได้รู้อยู่ตลอดเลย
เพราะว่าใจแท้ ๆ มันไม่มีความปรุงแต่ง ไม่ปรากฏตัวตน
ไม่ปรากฏอะไรเลย... สิ่งที่ปรากฏอาการต่าง ๆ ได้ มันจึงไม่ใช่เรา ตัวเรา ตัวตนของเราจริง ๆ
มันเป็นรูปตัวเราในกระจก
และไม่ใช่ "ใจ" ที่รู้รูปเงาในกระจก
ถ้าปัจจุบันขณะ เมื่อใจไปรู้เงาในกระจก แต่ขาดสติ สมาธิ ปัญญา มันก็จะไปหลงยึดถือเอาเงาในกระจกมาเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา หลงยึดถือว่าเราเป็นอย่างโน้น เราเป็นอย่างเนี้ย... หรือ ใจของเรามีอาการเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้
มันก็เลยมีความทุกข์
***** มันก็ต้องรู้แก่ใจตลอดเวลาว่า...
ตัวที่มีความรู้สึก นึก คิด ตรึก ตรอง ปรุงแต่งเป็นผู้ดู ผู้รู้ ผู้เพ่ง
ผู้เข้าใจ ผู้รู้แจ้ง มันเป็นเพียงรูปเงาในกระจก สะท้อนให้ใจได้รู้ได้เห็น
ถ้าสติ สมาธิ ปัญญาไม่ขาด มันก็ไม่หลงยึดถือเอาอะไรมาเป็นตัวตนของเรา
***** เมื่อไม่หลงยึดถือสิ่งใดมาเป็นเรา ตัวเรา ของเรา
ก็จะรู้แก่ใจว่า "จิตตสังขาร" หรือ รูปเงาในกระจกในปัจจุบันขณะ เป็นเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดเอง ดับเอง
หรือ จิตตสังขารทุกปัจจุบันขณะเกิดที่ใจ ดับที่ใจ ซึ่งเป็นความไม่มีอะไร และ ไม่มีตัวเราเป็นผู้ไปทำเกิดดับ
เมื่อสิ้นหลงสังขาร หรือ สิ้นหลงยึดถือสังขาร ก็จะรู้แก่ใจว่า
“ใจหรือจิตบริสุทธิ์” เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม
เป็นธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปลักษณ์
ไม่มีเครื่องหมายหรือที่หมาย ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ
ไม่อาจถูกรู้ได้ทางประตูตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่อาจถูกทำลายได้ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดนิ่ง เป็นมหาสุญญตาธาตุ เป็นอมตธาตุ อมตธรรม เป็นนิพพานธาตุ
***** มันก็ได้แต่รู้ ... ได้แต่รู้ ... |ได้แต่รู้ | ไม่มีสิ่งใดปรากฏให้ถูกรู้ได้
***** มันเข้าไปยึดอะไรไม่ได้ ทำกิริยาปล่อยวางอะไรก็ไม่ได้
ส่วนความสุข และทุกข์ เป็นเรื่องของขันธ์ห้า
เป็นเรื่องของอาการปรุงแต่ง
มันเป็นเงา... เป็น มายา... เป็นสมมติ เหมือนมันอยู่ในกระจก
ตัวเราที่มีความสุขความทุกข์ มันก็เหมือนตัวเราในกระจก
ที่สะท้อนให้ "ใจ" ได้รู้
แต่แท้จริงน่ะ ผู้รู้ มันอยู่นอกกระจก
มันไม่ใช่เงาในกระจก ! มันก็รู้ตัวเราตลอด เพราะฉะนั้นเราคิด เราพูด เรากระทำ เรามีความสุข ความทุกข์ มีความผ่องใส มีความเศร้าหมอง แม้จะแอบคิด พูด ทำในทางบาปอกุศลในที่ลับใดก็ตาม มันก็เป็นเงาในกระจก สะท้อนให้ใจได้รู้อยู่ตลอดเลย
เพราะว่าใจแท้ ๆ มันไม่มีความปรุงแต่ง ไม่ปรากฏตัวตน ไม่ปรากฏอะไรเลย... สิ่งที่ปรากฏมันจึงไม่ใช่เรา... ไม่ใช่ใจ
มันคือเงาในกระจกให้ใจได้รับรู้ พอใจมันไปรู้เงาในกระจก มันก็ไปยึดถือเอาเงาในกระจก มาเป็นตัวเราเป็นอย่างโน้น ตัวเราเป็นอย่างเนี้ย... หรือใจของเราเป็นอย่างโน้น ใจของเราเป็นอย่างเนี้ย
มันก็เลยมีความทุกข์
***** มันก็ต้องรู้แก่ใจว่า...
ที่ตัวเรามันเป็นยังไงเนี่ย มันเป็นเงาในกระจก
"ตัวเรา" รู้สึกว่าตัวเราเป็นยังไง เป็นเงาในกระจก !!
ให้รู้แค่อย่างนี้แหละ
แต่ใจที่ไปรู้เงาในกระจกเนี่ย มันไม่ใช่เงา เงา...... ไม่ใช่ "ใจ"
สิ่งใดที่เคลื่อนไหวแม้แต่น้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง ปรมาณูหนึ่ง
สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เป็นเงาในกระจก มันเป็นมายา
สิ่งใดที่ "ไม่เคลื่อนไหว" ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหว
...... ได้แต่รู้อย่างเดียว
สิ่งนั้นน่ะเป็น "ธรรมแท้" เป็นของแท้ (Pure Mind)
ก็ปล่อยให้มันเป็นเงาไป
ได้แต่รู้เงาในกระจก อย่าหลงเป็นเงาในกระจก
อย่าพยายามไปบังคับเงาในกระจกไม่ให้เคลื่อนไหว
ถ้าเราพยายามไปบังคับเงาในกระจกให้มันไม่เคลื่อนไหว พยายามจะ control มัน
เราพยายาม control มันเท่าไหร่ เราจะไปเพิ่ม "ตัวเรา" เป็นเงาในกระจกเข้าไป ** เพิ่มเงาตัวเราที่จะไปไล่จับเงาในกระจก**
จงปล่อยให้สิ่งที่เคลื่อนไหวมันเคลื่อนไหวของมัน
อย่าง.... อิสระ
ใจก็จะเป็นความรู้ ที่ไม่ปรากฏ "ตัวตนของใจ" อย่างอิสระเช่นเดียวกัน
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
ที่มา : ส่วนหนึ่งจากไฟล์เสียง
190706A1-3.1 อย่าหลงเป็นเงาในกระจก 1
* แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมโดย หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย