โยม : หลังๆ มานี้เวลาคุยกับผู้คนนะเจ้าคะ
ถ้าเค้ารู้สึกยังไง บางทีมันก็สัมผัสได้ที่ใจ “รู้” ขึ้นมาเองเจ้าค่ะ
บางทีเจ้าตัวเค้าปฏิเสธ แต่พอชี้ ๆ ให้เห็น เค้าก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเอง รู้เอง แม้การตอบคำถาม
คำตอบจะขึ้นมาเอง
แต่บางคำถามในไลน์แอดที่คำตอบไม่ขึ้นมา หนูเองก็จะไม่คิดเพื่อหาคำตอบเจ้าค่ะ ปล่อยไป
บางทีคำตอบก็ขึ้นมาทีหลัง
ถ้าไม่ขึ้นเลย ก็คงไม่มีเหตุปัจจัย เดี๋ยวท่านอื่นก็ตอบไปเจ้าค่ะ
เหมือนเรื่องสั้นเรื่อง "คุก"
น้องก็บอก... พี่ปุจฉานี้โดนใจมาก ให้ทำเป็นคลิปวีดีโอ
แต่การนำเสนอมันก็นึกไม่ออกเจ้าค่ะ
ผ่านไปหลายวันเกือบอาทิตย์
หนูอยู่บ้าน เดิน ๆ อยู่เหมือนมันจะขึ้นมา
นิ้วจิ้มเรื่องราวที่ไหลออกมาแทบไม่ทัน
เสร็จจบรวดเดียวเลยเจ้าค่ะ
สิ่งเหล่านี้มันแสดงตลอดเวลาว่า... ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา
หนูเคยฟังองค์หลวงตาว่า... ความรู้เหล่านี้เอามาใช้ได้ดั่งใจนึก แต่สำหรับหนู ขันธ์ห้านี้เป็นทาสรับใช้ของธรรมชาติ
เหมือนเมื่อคลื่นจะผ่าน ปากก็พูดออกไป
หนูรู้แก่ใจว่า... มันไม่เกี่ยวกับหนูเลย มันเป็นเอง
มันเป็นเหตุปัจจัยของผู้ถามที่เค้าจะต้องได้คำตอบ
แต่คำตอบเหล่านั้นมันแค่ผ่านปากหนูออกไป
เวลาคนมาขอบคุณหนู
มันก็รู้แก่ใจได้ว่า... เป็นเหตุปัจจัยของเค้าจริง ๆ
สำหรับหนูเลยเป็นว่า... ขันธ์นี้เป็นสถานีนึงของธรรมชาติเจ้าค่ะ เป็นสถานีที่ให้ธรรมชาติมาใช้งานเจ้าค่ะ
และพอเป็นอย่างนี้ มันไม่สามารถ "หลงตัว" ได้
เพราะมันรู้แก่ใจ สิ่งที่คิด พูด กระทำออกไปเป็นคลื่นที่ผ่าน
และคลื่นนั้นออกมาจากความว่างเจ้าค่ะ
หนูน้อมกราบแทบเท้าองค์หลวงตาที่เมตตาหนูมาโดยตลอด
กราบ กราบ กราบ เจ้าค่ะ
หลวงตา :
เพราะมี “สติ สมาธิ ปัญญา” รวมเป็นหนึ่งเดียวที่ใจ
รู้เท่าทันจิตตสังขาร ปล่อยวางจิตตสังขาร
พ้นจิตตสังขาร ที่ปรุงแต่ง เกิดดับในปัจจุบันขณะ
เข้าถึงความว่าง ความสงบเงียบเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
จึงจะเห็นได้ว่าในความสงบเงียบเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาตินั้น มีเรา ตัวเรา ซึ่งเกิดจากการหลงเอาจิตตสังขาร
มาคิดปรุงแต่งยึดถือขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตน
เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
แล้วคิดนึกตรึกตรอง ปรุงแต่งตลอดเวลา มีการพูดพากษ์
อยู่ในใจคนเดียวเหมือนคนบ้า วิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย
สงสัย ใคร่รู้ ดิ้นรน ค้นหา พยายามต่าง ๆ นานา
เหมือนคนบ้าที่อยู่ในท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบสงัด
เรียกว่ารู้จักตนเอง เห็นตนเอง
คือ เห็นตัวเราเหมือนคนบ้า คิดปรุงแต่ง พูดบ่น พูดพากษ์อยู่ในใจคนเดียวในท่ามกลางความสงบเงียบ
เป็นเพราะอำนาจแห่งความว่าง ความสงบเงียบสงัดเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ จึงรู้เห็น รู้เท่าทันจิตตสังขาร
ที่คิดปรุงแต่งในปัจจุบันขณะ
และรู้แจ้งแก่ใจที่ไม่สังขาร (วิสังขาร) ว่าจิตตสังขารทุกปัจจุบันขณะ ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่เรา ตัวเรา ของเรา
จึงสิ้นหลงยึดถือจิตเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา หรือ หลุดพ้นจากสังขาร
เป็น "อมตธาตุ" เป็น "อมตธรรม"
เป็น "เอโกธัมโม" หรือ "เอกะธัมโม"
เป็นจิตหนึ่ง เรียกว่า “พุทธะ” หรือ “พุทโธ”
*** ไม่มีตัวตนของเราเป็นเจ้าของความว่าง
ความเงียบ ความสงบ
ไม่มีตัวตนของเรา... เป็นผู้ปล่อยวาง
เป็นผู้เข้าถึง และ เป็นผู้เป็นหนึ่ง
ไม่มีตัวตนของเราที่มีความรู้สึกว่าเราว่าง เราเงียบ เราสงบ เราเข้าถึงธรรม เราบรรลุนิพพาน เราเป็นพระอรหันต์
จึงเป็นความบริสุทธิ์
ขันธ์ห้านี้ไม่ได้เป็นตัวตนคงที่ เป็นเรา ตัวเรา ของเรา และ ไม่ได้เป็นของใคร
เป็นเพียงเครื่องมือของพุทธะ
(ความรู้พ้นสังขารแล้วทั้งหมดของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระธรรม พระอรหันต์สาวก ที่มีมาทั้งหมดในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคตอันไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ)
ให้ได้ใช้เป็นทางผ่านของพระธรรม คำสอนที่ออกจากจิตหรือใจบริสุทธิ์ โดยส่งผ่านออกไปทางกาย วาจา จิตตสังขาร
ส่งต่อไปยังจิต หรือ วิญญาณทุกดวงที่ยังไม่ถึงซึ่งความบริสุทธิ์ แล้วขันธ์ห้าก็แก่ เจ็บ ตายไปตามธรรมชาติ
ดังนั้น ประโยชน์จริงของการเกิดมามีขันธ์ห้า
หรือ มีร่างกายและจิตใจนั้น ก็เพื่ออาศัยขันธ์ห้า
ให้เกิดปัญญาสาม คือ สุตมยปัญญา (ปัญญาในขั้นอ่าน ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า)
จินตามยปัญญา (ปัญญาในขั้นกัดติดจดจ่อลงที่ใจอย่างต่อเนื่องในหลักธรรมที่ได้อ่าน ฟังมานั้น)
และ ภาวนามยปัญญา (เป็นความรู้แจ้งในพระสัจธรรม คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ใจ ซึ่งเป็นผลอันเกิดมาจากมีสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร และ ขันติ ในขั้นสุตมยปัญญา และ จินตามยปัญญาอย่างต่อเนื่อง)
จนสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นที่ผิด ๆ ว่าขันธ์ห้า
หรือ ร่างกายและจิตใจ ว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
ก็จะสิ้นหลงว่าเรามีตัวตน แล้วเอาตัวเราไปยึดถือคนใด
หรือสิ่งใด ให้เกิดกิเลส และความทุกข์อีก
หลังจากทำประโยชน์ตนจนสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นแล้ว
ก็ทำประโยชน์ท่าน คือ เมื่อไม่มีผู้หลงยึดถือขันธ์ห้าแล้ว
ขันธ์ห้าก็เป็นเครื่องมือให้พระธรรมได้ใช้เป็นเพียงทางผ่าน
โดยพระธรรมจะผ่านจิตหรือใจที่บริสุทธิ์โดยตรง
ตามสมควรแก่ธรรมของแต่ละท่านที่ส่งคลื่นเข้าไปที่ใจในปัจจุบันขณะนั้น ๆ
แล้วแสดงพระธรรมออกมาทางขันธ์ห้าทางกาย วาจา
และจิตตสังขาร จนกว่าจะสิ้นอายุขัย
ขันธ์ห้าซึ่งเป็นสังขาร ก็แตกดับตายไป
ส่วนจิตหรือใจที่บริสุทธิ์ไม่ได้ตายแตกดับไปด้วย
แต่ไปรวมกับความว่างในธรรมชาติอันไม่มีขอบเขต
เป็นการเกิดมาชดใช้กรรมเป็นชาติสุดท้าย
ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในร่างใดภพใด
ให้เป็นทุกข์อีกต่อไป
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
ปุจฉาวิสัชนา วันที่ 3 กรกฎาคม 2562