จากข้อธรรม องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วิสัชนาโดย ท่านหลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
พระธรรมเทศนา องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อปัญญามีกำลังพอที่จะพิจารณานี้ได้แล้ว ก็ย้อนเข้าไปดูจุดนี้ คือจุดแห่งความผ่องใส จุดแห่งความองอาจ จุดแห่งความสุขอันละเอียดของอวิชชาที่อาศัยอยู่นี้ จะต้องทลายตัวลงไปด้วยอำนาจของปัญญาที่ละเอียด
เมื่อธรรมชาตินี้ได้สลายตัวลงไปด้วยอำนาจของปัญญาแล้วนั้น คำว่าเราก็ดี สิ่งที่เราเคยสงวนก็ดี สิ่งที่เราเคยรักเคยชอบก็ดี สิ่งที่องอาจกล้าหาญอันเป็นจุดเดียวกันนั้นก็ดี จะหมดปัญหาไปทันที ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ภายในนั้น
ถ้าหากจะเทียบอุปมาแล้ว จุดอันนี้เป็นเช่นเดียวกับบุคคลที่เข้าไปในห้องว่าง เมื่อเข้าไปสู่ห้องว่างแล้ว ผู้นั้นจะลืมตัวของตัวไปเสีย แต่จะไปชมว่าห้องนี้ว่างโล่งโถงเต็มที ไม่มีสิ่งใดอยู่ในห้องนี้เลย ห้องนี้ว่างอย่างเต็มที่โดยไม่ทราบว่าตัวคนเดียวนั้นแลไปทำการกีดขวางห้องอยู่ในขณะนั้น ห้องจึงยังไม่ว่างเพราะยังเหลือคน ๆ หนึ่งไปทำการกีดขวางห้องนั้นอยู่....
พอรู้สึกตัว อ้อ.... ห้องนี้ว่างจริง แต่ที่ห้องนี้ยังไม่ว่างเต็มที่ ก็เนื่องจากเรามาอยู่ในห้องนี้คนหนึ่ง ถ้าเราถอนตัวออกไปเสียจากห้องนี้แล้ว ห้องนี้จะว่างอย่างเต็มที่
ข้อนี้อุปมาฉันใด ทุกสิ่งทุกอย่างว่างปล่อยวางกันได้หมด แต่ยังเหลือคำว่า "เรา" ซึ่งเป็นตัว "อวิชชา" อันแท้จริงอยู่กับใจ นั่นแหละ "อวิชชา" ล้วน ๆ คือ "เรา" นั่นแหละกีดขวางตัวเองอยู่ในเวลานั้น ไม่ทราบว่า อวิชชานั้นคืออะไร เราจึงเห็นสิ่งทั้งหลายว่าง หรือว่าเราวางสิ่งทั้งหลายได้หมดไม่มีสิ่งใดเหลือ แต่ธรรมชาติอันนั้นทำการกีดขวางตัวของเราอยู่ เราเลยไม่ว่าง
พอปัญญาได้หยั่งเข้าไปสู่จุดนี้แล้ว ธรรมชาตินี้ก็สลายตัวลงไป นั้นแลภายนอกก็ว่าง ภายในใจตัวเองก็ว่าง เช่นเดียวกับบุคคลถอนตัวออกมาจากห้อง แล้วห้องนั้นก็ว่างอย่างเต็มที่ จิตรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบด้านหมดแล้วด้วย มารู้รอบตัวเองปล่อยวางภายในตัวเองนี้ด้วย
ชื่อว่าจิตนี้ว่างอย่างเต็มที่ ไม่มีสมมุติอันใดแฝงอยู่ภายในนั้นเลย นี่ชื่อว่าจิตว่างจริง จิตปล่อยวางจริง
ถ้าหากจิตยังไม่รู้ตัวเอง ยังไม่ถอดถอนตัวเองตราบใด ถึงจิตจะว่าสิ่งใดว่างหรือปล่อยวางสิ่งใดได้แล้วก็ตาม จิตก็ยังไม่ว่างในตัวเอง จิตยังไม่ปล่อยวางตัวเองอยู่นั่นแล
เมื่อเป็นเช่นนั้น คำว่า อวิชชาก็คือ จิตผู้นั้นยังจะมีทางสืบต่อไปได้อีก เมื่อได้ทำลายพืชอันสำคัญ หรือตัวอวิชชาอันแท้จริงนี้ได้ด้วยปัญญาแล้ว นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้ว่าง เป็นผู้วางอย่างเต็มภูมิ ไม่มีสมมุติอันใดเจือปน ความสงวนก็ไม่มี ความรักก็ไม่มี ความองอาจกล้าหาญก็ไม่มี ความที่จะขยาดหวาดกลัวเพื่ออะไรอีกก็ไม่มี เพราะสิ่งทั้งนี้เป็นสมมุติทั้งนั้น เนื่องจากอวิชชาซึ่งเป็นรากแก้วใหญ่ อันพาให้เกิดอาการเหล่านี้ขึ้นมาได้สลายลงไปแล้ว เหลือแต่ธรรมชาติล้วน ๆ
นี่จุดสุดท้ายแห่งการปฏิบัติธรรมะ หากเราได้ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังตามที่อธิบายมาแล้วนั้น จุดนี้หรือผลสุดท้ายที่อธิบายนี้จะไม่เป็นสมบัติของใคร แต่จะเป็นสมบัติของท่านผู้ปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ทั้งนั้น
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
จาก "หนังสือ เข้าสู่แดนนิพพาน"
แชร์โพสต์พุทธมหาเจดีย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ภูผาแดง
คำถามจากลูกศิษย์ หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
หลังจากอ่านพิจารณา พระธรรมเทศนาขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์ องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
โยม : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ
อ่านที่หลวงตาส่งมาวันนี้ ธรรมจากหลวงตามหาบัว ท่านได้กล่าวไว้ว่า "อวิชชาอันแท้จริงนี้ ย่อมทำลายได้ด้วยปัญญาอันละเอียด อันสูงสุด"
แต่หลวงตามหาบัวท่านไม่ได้บอกว่าปัญญาอันสูงสุด
ปัญญาที่ละเอียด นี้คืออะไร
ปัญญาสูงสุดนี้คืออะไรเจ้าคะหลวงตา...?
กราบขอหลวงตาโปรดเมตตาชี้แนะสอนสั่งด้วยเจ้าค่ะ
~~~~~~~~~~~
หลวงตา :
ปัญญาสูงสุด คือ เห็นความคิด ความปรุงแต่งเป็นเรา ตัวเรา ของเราที่ปนอยู่ในผู้รู้ ซึ่งจะทำให้หลงมีตัวเรายึดถือผู้รู้เป็นเรา หรือ เราเป็นผู้รู้
เพราะมีสติ สมาธิ ปัญญาเห็นจริง รู้แจ้งจากใจว่า
ความคิด ความปรุงแต่งเป็นเรา ตัวเรา ของเราที่ปนอยู่ในธาตุรู้ตามธรรมชาตินั้น
เป็นเพียงสังขารปรุงแต่งเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่เราเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา ตัวเรา ของเราจริง ๆ
จึงสิ้นหลงยึดถือสังขาร คือ ความคิด ความปรุงแต่งว่าเป็นเรา ตัวเรา ของเราจริง ๆ
ความรู้ หรือ ใจ จึงบริสุทธิ์
~~~~~~~~~~~~
โยม : เรื่อง "ห้องว่าง" เหมือนกับที่หลวงตาสอนอยู่เสมอ ๆ เลยครับ วันก่อนผมฟัง file ที่หลวงตาสอนคุณป้าสูงวัย
ที่บอกให้ลืมความรู้ความเข้าใจไปให้หมด
เห็นเลยครับว่าตรงที่รวมความรู้ความเข้าใจ
ตรงนี้ที่มีที่เก็บที่ตั้งนั้นคือ "ตัวตน" ทั้งหมด
คือ จุด หรือ ต่อม มีอยู่ตรงไหน
มันก็คงเหลือตัวเราอยู่ตรงนั้น
กราบหลวงตาอย่างสูงสุดครับ
กราบ กราบ กราบ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
17 กรกฎาคม 2562