โยม : วันนี้ถอนอธิษฐานต่อหน้าพระประธานสององค์เจ้าค่ะ ความสะเทือนใจก็ยังคงปรากฏให้รับรู้ได้... แต่ใจมันก็แค่รู้ของมันเองว่าอะไรเป็นอะไร และยอมรับทุกอย่างโดยดุษฎี... รับรู้ได้ว่า...
องค์ใหญ่เป็นเครื่องหมายของ “ความเมตตา” รอยยิ้มละไมของพระพักตร์เตือนให้ทำหน้าที่ด้วยเมตตาธรรม ที่ออกมาจากจิตเค้าเอง เมตตาที่แท้เกิดจากใจเป็น แต่งเอาไม่ได้... ความเมตตาที่มาพร้อมกับเหตุปัจจัย แต่การแสดงออกต้องเหมาะสมกับบุคคล สถานที่ โอกาส กาละเทศะ
องค์เล็กเป็นตัวแทนของ “อุเบกขา” ความสงบจากพระพักตร์ที่ส่องประกายมาให้รับรู้ได้ที่ใจ เหมือนจะบอกใบ้เป็นนัยว่า ความสงบสยบความเคลื่อนไหว เพราะความมั่นคงแข็งแรงหาญกล้าเป็นสิ่งที่ออกมาจากภายใน ภายใต้ความสงบเย็น จึงเป็นอุเบกขาในตัวเอง
ทั้งเมตตาธรรมและอุเบกขาธรรม ต่างค้ำจุนซึ่งกันและกัน... เป็นความพอดี... ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเป็นความไม่พอดี... และก่อทุกข์โทษภัยเป็นธรรมดา
ก็รับรู้ปรากฏการณ์ที่ปรากฏขึ้นในใจอย่างที่มันเป็นเจ้าค่ะ... แต่มันล้วนผ่านไป เมื่อไม่ได้ไปกระทำอะไรให้เกิดความหลงยึดถือ... แค่ได้เรียนรู้เจ้าค่ะ
เรา - จะรู้จักตัวเราเองได้ต่อเมื่อ...
เราไม่ได้เป็น “ตัวเรา” เอง... และ
เราไม่ใช่ “ไม่ได้เป็นตัวเรา” เอง
เมื่อยังหิวอยู่... ทางเดียวที่จะพ้นจากความหิว คือ การกิน ไม่มีวิธีอื่น
เมื่อยังกินไม่อิ่ม ท้องมันก็ยังว่างอยู่ ต้องหาอาหารมาเติมให้มัน
แต่เมื่อ “อิ่ม” ขึ้นมา ก็แปลว่าไม่มีที่ว่างในท้องอีกแล้ว ขืนกินเข้าไปก็ท้องแตก
ไม่ต้องถามหาอาหาร แม้จะมีของอันโอชารสมาวางกองตรงหน้า มันก็กินเข้าไปไม่ได้... เพราะมันอิ่มแล้ว เต็มแล้ว พอแล้ว!!!
อิ่มในโลก อิ่มในธรรม
อิ่มในการแสวงหา ดิ้นรนทะยานอยากอิ่มในการเป็น “ผู้เสวย” ทั้งกายใจอิ่มอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ความปรุงแต่งอิ่มในภาพมายาอันหาสาระไม่ได้ยอมรับความจริงอย่าง “เต็มอิ่ม”และยอมสละแม้ “ความเต็มอิ่ม” นั้นอย่างสิ้นอาลัย
มันย่อมไม่แสวงหาอะไรมาเติมกายใจให้มันเต็มอีก มันไม่เอาของมันเอง มันเป็นของมันเอง
ทุก ๆ ปัจจุบันขณะ มันจะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จะไปกระทำให้อะไรเป็นอะไรไม่ได้ ทำได้แต่สร้างเหตุคือรู้และยอมรับปัจจุบัน...
“อยู่กับรู้ความจริง” แต่ไม่ได้เป็น “ความจริงที่ถูกรู้” ทั้งยังไม่ได้เป็น “รู้” นั้นเสียด้วย
สมาธิคืออยู่กับ “รู้ความจริง” เช่นนี้บนบาทฐานของ “ความสงบใจ” ที่ไม่ได้ไปทำให้สงบ แต่...มันสงบจากความปรุงแต่งของมันเองตามลำดับ
มันค่อย ๆ แจ้งแก่ใจเช่นนี้เจ้าค่ะ
หลวงตา : สาธุ
ความเมตตา และ อุเบกขา ไม่ได้มีแก่เฉพาะผู้อื่นเท่านั้น
*****ให้มีเมตตาตน เมตตาจิต ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ คือ ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง (ไม่เลือกว่าจะถูกใจ หรือ ไม่ถูกใจ)
อุเบกขาต่อจิต คือ มีความสงบอย่างมั่นคงอย่างเป็นอุเบกขาต่อจิต ไม่หวั่นไหวไปตามจิต
เมตตา รวมกับ อุเบกขา “ใจ” จึงเป็นความ...สงบเย็น...
“สงบ” เพราะไม่ติดยึด
“เย็น” เพราะมีเมตตาไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
เป็นอัปปมัญญา
โยม : เมตตาอุเบกขาอัปปมัญญา... สงบเย็นไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
เมตตาตนก่อน... แล้วจึงเมตตาท่าน
เมตตาตนอย่างไร... ก็เมตตาท่านอย่างนั้น
เมตตาต่อจิต ไม่ว่าจิตจะแสดงอาการอย่างไร (อาการของคู่ตรงข้าม) ล้วนเป็นของเขาอย่างนั้นเอง
อุเบกขาต่อจิต แม้มีความสงบ (ที่เป็นสังขารที่อาศัยเป็นบาทฐานให้ปล่อยวางจิตปรุงแต่ง เพราะเห็นความจริง) เล็กน้อย ปานกลาง หรือมั่นคงเพียงใด ก็ให้อุเบกขากับความสงบเหล่านั้น เพราะเขาเป็นอย่างนั้นเองเช่นกัน (จะว่าไปจริง ๆ เพราะความสงบจากความปรุงแต่งนั้นแหละ ที่ทำหน้าที่เป็นอุเบกขาในตัวของมันเอง)
เมื่อเมตตารวมกับอุเบกขา... เริ่มต้นที่ตนก่อน อ่านตนออก บอกตนได้... เห็นตน จึงรู้ตน...ว่าไม่ใช่ตน
เมตตาอุเบกขาเพื่อผู้อื่น... จึงไม่ได้ออกไปจาก “อัตตา” อีกต่อไป... รับรู้ที่ใจแบบนี้เจ้าค่ะ (กราบ) (กราบ) (กราบ)
หลวงตา : สาธุ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
3 พฤษภาคม 2562