โยม : ธรรมที่องค์หลวงตาส่งให้ช่างลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน ตรงนี้คือหัวใจของธรรม คือ
“ไม่ต้องหาใจ… แค่รู้ว่าสังขารทั้งหมดคือไม่ใช่”
ไฟล์หนึ่งกล่าวถึง พระนิพพานอยู่ฟากน้ำริมตา ลูกนึกถึงบทความที่หลวงตาเมตตาสอนวันนี้ หลวงตาสอนขยายความว่า ทำไม ขนคิ้ว และขนตา ไม่ยาวเท่าผม
จะมีคำตอบมากมาย คือ ถ้าหากขนคิ้ว ขนตายาวเท่าเส้นผม เราคงจะมองอะไรไม่เห็น คงจะหนักมาก ลำบากมาก ใช้ชีวิตลำบาก
เห็นตัวที่หาคำตอบนี้ ที่ดิ้นรนวิเคราะห์หาคำตอบ คำตอบที่ได้ทั้งหมดคือสังขาร เจ้าค่ะ
สิ่งที่รู้ขึ้นมา กลับรู้ว่า มันก็เป็นของมันอย่างนี้ เป็นธรรมชาติแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องไปหาเหตุผล มันไม่มีเหตุผล แต่เป็นเพียงธรรมชาติ แค่ยอมรับธรรมชาติอย่างที่มันเป็นจากใจ ธรรมชาติมันสร้างให้สมบูรณ์ ตามเหตุผลของมันแล้ว สิ่งนี้ที่เป็นความรู้ขึ้นมา
หลายครั้งไม่กล้าส่งการบ้าน เพราะกลัวรบกวนธาตุขันธ์องค์หลวงตา
แต่ตอนนี้ความรู้เปลี่ยนไป หากจะเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ก็ขออธิษฐานเปิดเป็นอัตโนมัติ หากธรรมใดที่ข้าพเจ้ารู้ธรรมเห็นธรรม และหากเป็นธรรมสูงยิ่ง ๆ ๆ ขึ้นไป ขอให้ ทุกรูป ทุกนาม สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค ครุฑ มนุษย์ คนธรรพ์ ในทุกแดนโลกธาตุ ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ขอให้รู้ธรรมเห็นธรรมแท้ ที่ข้าพเจ้าได้รู้ได้เห็นและเป็นธรรมสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่บัดนี้ เดี๋ยวนี้ เป็นต้นไปด้วยเทอญ
หลวงตา : สาธุ
“ธรรม” ซึ่งเป็น “สังขาร (ขันธ์ห้า)” เป็นธรรมชาติที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กับ “วิสังขาร (ใจ)” เป็นธรรมชาติไม่เกิดดับ เขาเป็นธรรมชาติของเขาอย่างนั้น อยู่ด้วยกัน ไม่ดูด ไม่ผลัก ไม่ยึดถือซึ่งกันและกัน เหมือนกับหยดน้ำบนใบบัว เขาไม่ได้เป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา
คงมีแต่ความเห็นผิด ๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลงยึดมั่นถือมั่น ฝืนธรรมชาติ ยึดถือเอาสังขาร หรือ วิสังขาร ซึ่งเป็นธรรมชาติ มาเป็นเรา ตัวเรา ของเรา จึงเป็นทุกข์
เพราะ “สังขาร” เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วต้องเปลี่ยนแปลงไป ดับไปเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นสังขารที่เรารัก ชอบ พอใจ ก็อยากให้คงอยู่ ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง ส่วนที่ไม่รัก ไม่ชอบ ไม่พอใจ ก็อยากทำลาย อยากให้หายไป ดับไป เมื่อไม่เป็นไปอย่างใจอยาก (กิเลส ตัณหา) จึงเป็นทุกข์
ส่วน “วิสังขาร” เป็นธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน ไม่มีเครื่องหมาย หรือ รูปลักษณ์ใด ๆ จึงไม่อาจยึดถือเอาได้ แต่ก็หลงผิดพยายามยึดถือเขาให้ได้ เมื่อไม่ได้อย่างใจอยาก จึงเป็นทุกข์
ธรรมชาติของสังขาร และ วิสังขาร เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น เขาเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยากจะให้เขาเป็น เพราะเขาไม่ได้เป็นของของเรา เราไม่ได้เป็นสังขารและวิสังขารนั้น และเขาไม่ได้เป็นตัวตนของเรา
เมื่อเกิดปัญญาญาณ รู้แจ้งในสัจธรรมถึงใจว่า ธรรมชาติของสังขาร และ วิสังขาร เขาเป็นเช่นนั้นเอง เขาไม่ได้เป็นของใคร ไม่ได้เป็นเรา ตัวเรา ของเรา ยอมรับความจริงนั้นจนหมดใจ (ยถาภูตญาณทัสสนะ) แล้วความดิ้นรนทะยานอยาก ฝืนความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัณหา อันเป็นสมุทัย คือ เหตุให้เกิด อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ และความทุกข์ทั้งมวล ก็จบสิ้นลง ด้วยเหตุฉะนี้
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
3 พฤษภาคม 2562