โยม : เมื่อคืนมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นในฝัน เหมือนอยู่ท่ามกลางพายุ ฟ้าผ่าอยู่ใกล้มาก ชัดเจนมาก ๆ มันสะเทือนไปหมดทั้งโลก แต่ผู้รู้เขาก็รับรู้อยู่ สงบนิ่ง และไม่มีตัวจิตตัวใจของตัวเองเลย
เหมือนจิตทั้งหมดคือโลก โลกทั้งหมดคือจิต ปรากฏอยู่แต่เพียงภายนอกเท่านั้น
มันรู้อยู่ จนความคิดปรุงแต่งเกิดว่า "ธาตุขันธ์กำลังจะตาย" พอมันไปจับสมมตินี้ ปรากฏการณ์ที่เห็นก็ดับลง และรู้สึกตัวตื่น
หลังจากนั้นมันยึดอยู่สักพัก จะมาเล่าหลวงตาให้ได้ ความฟุ้งในธรรมเกิดมาใหม่ และฟุ้งอยู่นานพอควร จนเริ่มรู้สึกว่าไม่สงบ
คิดถึงหลวงตา ธรรมบอกให้ปล่อย ยอมรับที่มันจะปรุงแต่ง ปล่อยความปรารถนา ที่จะให้มันรู้เฉย ๆ รู้แค่สภาวะเฉย ๆ แค่เป็นปรากฏการณ์เฉย ๆ แบบเมื่อคืนไปซะ
มันเลิกหวัง เลิกปรารถนา มันจะกลับมาปรุงแต่งก็ไม่เป็นไร ความทุกข์มันจึงดับไปของมันเองเจ้าค่ะ
หลวงตา : ความฝันนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงมี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือความหลงยึดว่า...
ตัวเราเป็นขันธ์ห้า (อหังการ) เช่น ใครทำอะไรไม่ถูกใจ หรือ ใครเถียงหน่อยเดียว ก็ของขึ้น พูดด้วยความโมโหว่า มึงรู้หรือเปล่าว่ากูเป็นใคร กูเป็นพ่อมึง กูเป็นสามีมึง กูเป็นภรรยามึง กูเป็นเจ้านายมึง มึงมาเถียงกูอย่างนี้ได้อย่างไร... เป็นต้น
หลงยึดถือขันธ์ห้าเป็นของเรา (มมังการ) โดยยึดถือส่วนของร่างกายหรือ ยึดถือส่วนจิตใจ หรือ หลงยึดถือขันธ์ห้าทั้งตัว คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา (มานานุสัย) เช่น เวลาเจ็บไข้ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ก็หลงยึดถือว่า เราไม่สบาย เราจะตายแล้ว เป็นห่วง เยื่อใยอาลัยอาวรณ์
(ภาพธรรม)
“ความรู้สึกเป็น “ตัวเรา” ต้องตายก่อนตาย เป็นรู้ที่สิ้นยึดสิ้นหลง เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่เหลือตัวเหลือตน เป็นธาตุรู้ที่ไม่มีตัวตน เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์”
โยม : สาธุ เจ้าค่ะ มันต้องตายก่อนตายจริง ๆ ไม่เช่นนั้นภพชาติหลังความตายมันมีแน่นอน กราบขอบพระคุณหลวงตาเจ้าค่ะ
เจ้าค่ะหลวงตา ลูกจะจดจำไว้ ความฝันมันบ่งชี้ความยึดถือจริง ๆ และในเวลานั้นมันพ้นจากการบังคับ โดยที่เราก็ปรุงแต่งหลอกตัวเองไม่ได้ มันยึดแค่ไหน ก็ออกมาหมด ไม่เหมือนตอนกลางวัน (จริง ๆ กลางวันก็ปรุงแต่งไม่ต่างจากฝัน) แต่กลางวันตอนที่รู้สึกตัว จิตมันปรุงแต่งหลอกเจ้าของได้ สร้างสภาวะที่เหมือนจะไม่ทุกข์ สร้างอันที่มันดี ๆ ขึ้นมา แล้วก็ถูกหลอกไม่รู้ตัว
แต่ในตอนหลับ (ซึ่งจริง ๆ อาจจะไม่ต่างจากตอนตาย) มันสิ้นกำลัง อยู่ในจุดที่การปรุงแต่งซ้อนทับมันหายไป มันเป็นอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้น ยึดแค่ไหน ความโง่ ความมีเราอยู่ขนาดไหน ก็เผยออกมาเจ้าค่ะ
หลวงตา : ***ในความฝันช่วงแรก ๆ นั้น ยังไม่มีโลกหรือความปรุงแต่งเป็นตัวเรา หรือเป็นของเราเข้าไปผสม คือ “... เหมือนอยู่ท่ามกลางพายุ ฟ้าผ่าอยู่ใกล้มาก ชัดเจนมากๆ มันสะเทือนไปหมดทั้งโลก (หมายถึงไม่ว่าจะเกิดสภาวะอะไรขึ้นทั้งภายนอกและภายใน จะรุนแรงอย่างไรก็ตาม)
แต่ผู้รู้ (ซึ่งเป็นธรรมธาตุ นิพพานธาตุ สุญญตาธาตุ อสังขตธาตุ อมตธาตุ) เขาก็รับรู้อยู่ สงบนิ่ง และไม่มีตัวจิตตัวใจของตัวเองเลย
เหมือนจิตทั้งหมดคือโลก โลกทั้งหมดคือจิต ปรากฏอยู่แต่เพียงภายนอกเท่านั้น (มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ... เพราะจิตทั้งหมด ก็คือ โลกทั้งหมด ก็คือ จิต เพราะไม่มีอะไรเป็นของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ได้เป็นตัวตน (อัตตา) ของเรา
*** การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็ปฏิบัติเหมือนกับความฝันช่วงแรกนั้น เพียงแค่...
"...ผู้รู้ เขาก็รับรู้อยู่ สงบนิ่ง โดยไม่มีตัวจิตตัวใจของตัวเองเลย"
ด้วยเหตุอย่างนี้ ผู้รู้ก็จะมีความรู้แจ้ง และสิ้นหลงยึดของเขาเอง เพราะเขามีความรู้ ความเห็น ความรู้แจ้ง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จนถึงใจแล้ว
แต่ในความฝันตอนหลัง มีความหลงคิดปรุงแต่งยึดถือขันธ์ห้าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา กำลังจะตาย... ซึ่งเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึก มามีอารมณ์ร่วมไปใน “ผู้รู้” จึงทำให้ผู้รู้ไม่เป็นธรรมธาตุที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นนิพพานธาตุ สุญญตาธาตุ อสังขตธาตุ อมตธาตุ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
23 เมษายน 2562