โยม : กราบเรียนหลวงตาที่เคารพ โยมเป็นแฟนพันธ์แท้มาสองสามปี แต่ไม่เคยส่งการบ้าน เท่าที่ฟังมา อะไรที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นสังขาร เพียงแค่รู้แค่เห็นไม่ตามไปกับมัน... การเข้าใจถึงว่าจิตมันเกิดขึ้นเองทำงานของมันเอง คือมันผุดขึ้นมา ไม่ได้มีเจตนาไปทำให้มันเกิด
ตอนเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงเข้าใจว่า มันเกิดขึ้นเอง แสดงต่อเนื่อง สองวันสองคืน คือสิ่งที่ผุดขึ้น มันไม่ได้ปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว เป็นสัญญาเก่าบ้าง เป็นโน้นนี่นั่น เป็นดารา เป็นสิ่งที่ไม่มีสาระแก่นสารใด ๆ จนสังขารอีกตัวบอกว่า เบื่อที่จะเห็นเบื่อที่จะรู้ มาถึงวันนี้ สติจะไวขึ้น พออะไรเกิดขึ้นมา มันรู้ และเข้าใจที่หลวงตาบอกว่า มันเกิดขึ้นมาเก้อ ๆ อย่างนั้นเอง
อะไรที่เกิดขึ้น ได้แต่รู้... แค่รู้ หลงบ้าง รู้บ้าง ปรุงบ้าง แต่ไม่ยึดรู้นั้น คือถ้ายึดรู้นั้น มันเหมือนจะจ้อง แต่รู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้น ก็ไม่เป็นธรรมชาติ หลวงตาว่าเป็นอวิชชาอีก...
"... แค่ไม่ยึด..."
ตอนนี้ได้แต่รอพบหลวงตาที่ฮอลแลนด์ค่ะ... ส่วนคำถาม ขอไปถาม ณ จิตปัจจุบันตอนที่พบหลวงตาค่ะ
หลวงตา : ธรรมชาติทั้งภายนอกตัวเราและภายในตัวเรา จะมีอยู่สองอย่าง คือ ธรรมชาติที่เกิดดับได้ เรียกว่า “สังขาร” ซึ่งจะเกิดดับในธรรมชาติที่ไม่เกิดดับ เรียกว่า “วิสังขาร”
ทุกปัจจุบันขณะ ต้องสังเกตให้ออกว่า หรือ รู้แก่ใจว่า หลงไปเป็นสังขาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่หรือไม่ เช่น หลงคิด หลงปรุงแต่ง ดิ้นรนค้นหา... เป็นต้น
ถ้าหลงเป็นสังขาร ก็จะเป็นทุกข์หรือไม่พ้นทุกข์
***ธรรมมีหนึ่งเดียวเท่านั้นที่พ้นทุกข์ได้ คือ ธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ดับ ซึ่งเป็น “ใจ” ที่เป็นวิสังขาร หรือ ธรรมที่ไม่เกิด ไม่ดับ มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่จะพ้นจากสังขารและพ้นจากทุกข์ได้ เป็น “เอโก ธัมโม” หรือ “เอกะ ธัมโม”
ดังนั้น ทุกปัจจุบันขณะ จึงต้องปล่อยให้สังขารในใจ (จิตตสังขาร) เขาสังขารไปอย่างอิสระ โดยรู้แก่ใจว่า ไม่มีตัวตน หรือ มีผู้หลงไปกับเขา
แล้วเจ้าตัวจะรู้แก่ใจในปัจจุบันขณะนั้น ๆ ว่า “ใจ” ที่ไม่สังขาร (วิสังขาร) มันเป็นอย่างไร คือ ในใจนั้น มันสงบ เงียบ สงัด ว่างเปล่าจากความคิด ความปรุงแต่ง อารมณ์ใด ๆ ว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่ปรากฏการไหวติงใด ๆ มันอยู่เหนืออารมณ์สุขและทุกข์
ซึ่งในขณะที่เป็น “ใจ” นั้น ตัวเราซึ่งเป็นขันธ์ห้า ก็ยังมีความรู้ความเข้าใจ วิพากษ์ วิจารณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่มันเข้าไม่ถึง “ใจ”
เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ด้วยใจ ซึ่งเป็น “ปัจจัตตัง” แล้ว ต่อไปมันก็จะไม่หลงอีก หรือ หลงน้อยลงไปเรื่อย ๆ ๆ... จนสิ้นหลง ก็จะเป็น “ใจ” อยู่กับ “ใจ” อย่างถาวร จะสิ้นสงสัย ไม่ต้องไปถามใครอีก
เมื่อพบ “ใจ” เป็น “ใจ” อยู่กับ “ใจ” นั้นแล้ว ก็จะไม่หลงไปเอาสังขารมาเป็น “ใจ” หรือ ไม่หลงเอา “ใจ” ไปสังขาร หรือ ไม่หลงเอาสังขารมาพยายามยึดถือ “ใจ” ให้เป็นกิเลสและความทุกข์อีกต่อไป เรียกว่า “นิพพาน”
โยม : ที่ไม่เขียนบอกเรื่องวิสังขาร คือสิ่งนี้ เข้าใจมันเป็นธรรมชาติ ของสองสิ่งที่อยู่ร่วมกัน เห็นบ่อย ๆ ค่ะ มัน สงบ เงียบ แต่ไม่เหมือนสงบ นิ่งว่างแบบในฌาน มันละมุนละไมกว่า... แต่สิ่งนี้เพื่อความชัวร์ ขออยู่ต่อหน้าหลวงตาค่ะ
หลวงตา : ความสงบเงียบในอารมณ์สมาธิจนถึงอรูปฌานนั้น มันมีตัวเราผู้รู้และเป็นผู้ทรงอารมณ์ฌานทุกในระดับ ซึ่งอารมณ์ฌานทุกอารมณ์ ไม่ว่าระดับใด ล้วนตกอยู่ใต้กฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ส่วน “วิสังขาร” ซึ่งเป็น อสังขตธาตุ หรือ นิพพานธาตุ หรือ สุญญตาธาตุ ธรรมธาตุ อมตะธาตุ... เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏการไหวติง ไม่ปรากฏการเกิดดับ ไม่มีอะไรอยู่ในนั้น ไม่มีใครเป็นผู้รู้และเป็นผู้ทรงธาตุนั้นได้ เพราะเขาเป็นอสังขตธาตุ คือ ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และไม่อาจเอาความปรุงแต่งไปยึดถือเขาได้
เพราะเขาไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีอะไรปรากฏ จึงไม่อาจถูกรู้ได้ด้วยอายตนะภายใน และไม่อาจยึดถือเขาได้ เขาไม่เกิด ไม่ดับ จึงไม่ได้หายไปเมื่อเราหลงไปเป็นสังขาร เพียงแต่หลงลืมเขาไปในขณะที่หลงสังขารเท่านั้น
แม้แต่ขณะที่หลงสังขารให้เป็นกิเลสและความทุกข์ ส่วนที่เป็น “วิสังขาร ซึ่งเป็นอสังขตธาตุ” เขาก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ได้หายไป
เปรียบเหมือนกับว่า กลางวันเป็นอารมณ์สุข ส่วนกลางคืนเป็นอารมณ์ทุกข์ ซึ่งกลางวันกับกลางคืนผลัดกันเปลี่ยนแปลงในความว่าง โดยความว่างไม่ได้หายไปตามความสว่างและความมืด ซึ่งเปรียบเหมือน “วิสังขาร” ไม่ได้หายไปตามอารมณ์สุขและทุกข์
แม้จิตตสังขารทุกปัจจุบันขณะจะคิด หรือ ปรุงแต่งอย่างไร ถ้าไม่หลงสังขารนั้น ก็จะพบว่า “ใจ” ที่เป็นวิสังขาร ก็คงเป็นใจที่ไม่ปรุงแต่งอยู่อย่างนั้น
จึงมีคำกล่าวว่า... “พบใจ พบธรรม... ถึงใจ ถึงนิพพาน (นิพพานธาตุ)”
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
22 เมษายน 2562