โยม : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ
04:18 - 05:50 ตื่นนอน สติรู้ที่ใจ ไม่ต้องพยายามมาก แค่ระลึกรู้ตรงจิตหลงคิด จิตก็ทวนเข้า (ฐาน) ใจ จิตรู้ก็ปรากฏ ครั้งแรกๆ ก็มีเจตนาทวนเข้าหาผู้รู้ แต่พอพบจิตรู้แล้วที่เคยรู้จักแล้ว มันก็ทำต่อเอง คือ พอเห็นจิตหลงคิดเพียงแว๊บ มันก็ทวนหาผู้รู้เอง เกิดอาการซูซ่า ๆ นิด ๆ รู้เห็นเช่นนั้น อยู่หลายขณะ แต่ปัญญาเดินต่อไม่ได้ กลายเป็นง่วงหลับ
ตื่นมารู้อย่างนั้นอีก แต่รู้ว่า รู้แบบกระท่อนกระแท่น เบลอๆ มัว เพราะอาการง่วงซึมมากกว่า (ถีนะมิทธะ) ไม่ผ่องใสไม่ชัดเจนไม่ต่อเนื่องเหมือนครั้งก่อน ๆ ทุกอาการใจก็แค่รู้ อย่างที่มันเป็น ใจไม่ดิ้นรนเดือดร้อน
เมื่อออกจากภาวนานั้นมาแล้วพิจารณาว่า อะไรเป็นอะไร ทำไมเดินปัญญาต่อไม่ได้ รู้ว่า เพราะกำลังสมาธิไม่พอแล้ว พอถึงสภาวะละเอียด ๆ อารมณ์มีไม่มาก เป็นอารมณ์เดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่จิตเคยเห็นแล้ว คือ สิ่งที่เกิดและดับ ซึ่งกิเลสคืออวิชชาตัณหา ไม่ชอบ ไม่สนใจ จึงปล่อยอาวุธ ออกอาการง่วงซึมเบลอมาปกคลุมจิต
กราบขอคำแนะนำจากหลวงตาค่ะ ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ
หลวงตา : เมื่อพบ “ใจ” หรือ ธาตุรู้ที่ไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร) หรือ จิตเดิมแท้ แล้ว
*** การปฏิบัติ มันจะกลับด้านของมันเอง คือ ...
ใจหรือธาตุรู้ที่ไม่ปรุงแต่ง จะไม่คิด หรือ ปรุงแต่ง ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหว ไม่มีอาการกระดุกกระดิก หรือ กระเพื่อมใดๆ เลย เป็นความสงบ เงียบ สงัดเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วยคุณสมบัติของ “ธาตุรู้” ของเขาเอง
ไม่มีใครบังอาจไปปรุงแต่งหรือทำความพยายามอย่างใดๆ เพื่อให้เขาเป็นธรรมชาติที่เป็นวิสังขาร ที่ไม่อาจคิด หรือปรุงแต่งได้ เป็นธรรมชาติที่ว่างเปล่าจากตัวตน ว่างเปล่าจากความปรุงแต่ง หรือ ว่างเปล่าจากกริยาอาการ เป็นความสงบ ... เงียบ ... สงัด...สันติอย่างยั่งยืนเป็นปกติธรรมชาติของเขาเอง
เขาไม่มีสิ่งใดปรากฏให้ยึดติดยึดถือได้ และ
เขาไม่มีตัวตน จึงไม่ใช่เป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา
เขาจึงเป็นธาตุรู้ หรือ เป็นธรรมธาตุที่เป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาความรู้จากที่ใด ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่แตกทำลาย ไม่มีการตาย ไม่มีการไป ไม่มีการมา
จะเอาเขาไปคิดหรือปรุงแต่งยึดติดยึดถือก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็นวิสังขาร คือ เป็นธรรมชาติ หรือ ธรรมธาตุ ที่ได้แต่ “แค่รู้ซื่อๆ” หรือ “สักแต่ว่ารู้” เท่านั้น ไม่มีตัวตน ไม่อาจคิดหรือปรุงแต่ง จึงไม่อาจมีกริยาอาการที่ยึดติดยึดถือ และ ไม่อาจทำกริยาอาการปล่อยวางได้
ซึ่งแต่เดิมฝึกสติ สมาธิ ปัญญาในขันธ์ห้า คือ เพียรมีสติ รู้ ละ ปล่อย วาง
จนพบ “ใจ” (วิสังขาร) ซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือ ธรรมธาตุที่ไม่สังขาร ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวจิต ตัวใจ เป็นความรู้แจ้งในสัจธรรม (ความจริงของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) รู้สิ้นหลง รู้ตื่น รู้เบิกบาน
เป็นธาตุรู้ที่ว่างเปล่าเหมือนดังความว่างของธรรมชาติหรือจักรวาล แทรกซึมอยู่ในธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ (ความว่าง)
*** “ธาตุรู้” ไม่ใช่ความว่าง (อากาศ) แต่อยู่รวมกับความว่าง จึงรู้จักความว่าง
รู้จักว่าอะไรเป็นสังขาร
รู้จักว่าอะไรเป็นวิสังขาร
แต่ก็ “ได้แต่รู้” เท่านั้น ไม่อาจยึดติดยึดถือใจ หรือ จิตเดิมแท้ หรือ ธาตุรู้ หรือ ธรรมธาตุ ว่า เราหรือตัวเราเป็นคนรู้ หรือ ผู้รู้เป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา ได้
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
6 เมษายน 2562