หลวงตา : อดทนอยู่ไปอย่างนี้นั่นแหละ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะปล่อยวางโลก แล้ว เหลือแต่ธรรมอันสมควรแก่ธรรมในปัจจุบันนี้ ก็ให้อธิษฐานบวชใจตามแผ่นอธิษฐาน
ส่วนเวลาที่เหลือ ให้เพียรสักแต่ว่ารู้ ด้วยการสังเกตให้เห็นสัจธรรมความจริงอย่างละเอียดอย่างต่อเนื่องของ
“กาย” คือ ลมหายใจเข้าออก และ ส่วนประกอบของร่างกาย ตั้งแต่ส่วนหยาบ ปานกลาง ละเอียด จนเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศกลับคืนธรรมชาติไปหมด จนไม่เหลือตัวตน ... ไม่เหลือเรา ตัวเรา ตัวตนของเราอยู่เลย
“จิต” หรือ “วิญญาณขันธ์” หรือ “ผู้รู้” ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเอามาคิด หรือ ปรุงแต่งวิพากษ์ วิจารณ์อยู่ในใจ ทุกปัจจุบันขณะ ตั้งแต่หยาบ ปานกลาง ละเอียด ละเอียดสุด ๆ ๆ จนเป็นปรมาณู จนพ้น “เจตนา” ที่จะเอาอะไรมาคิดนึกตรึกตรองปรุงแต่งขึ้นมา ก็จะรู้แจ้งแก่ใจว่า “จิต” เขาเป็นธรรมชาติฝ่ายปรุงแต่ง (สังขาร) ที่เกิดเอง ดับเอง ในธรรมชาติที่ไม่มีการเกิดดับ (วิสังขาร)
(ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ)
และ
“ธาตุรู้ (วิสังขาร)” ซึ่งเป็นธรรมชาติพ้นจากสังขาร และ พ้นจากเจตนารู้ ไม่มีตัวตนรูปพรรณสัณฐานใด ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการเกิดดับ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดนิ่ง ไม่ใช่เป็นเรา ตัวเรา ของเรา และพ้นจากความหลงยึดถือว่าตัวเราเป็นผู้รู้
เมื่อผู้รู้ไม่มีตัวตน จึงเป็นธรรมชาติที่ได้แต่รู้ ไม่อาจมีกิริยาอาการยึดถือหรือปล่อยวาง มันจึงเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ว่างเปล่าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างเป็นอมตะ ตลอดกาล
จะเป็นปัจจัตตัง รู้แจ้งแก่ใจว่า...
“ธรรมทั้งหมด คือ ธรรมชาติฝ่ายปรุงแต่ง (สังขาร) เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และ ธรรมชาติฝ่ายไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร) เป็น “อนัตตา”
ไม่ใช่เรา ตัวเรา ของเรา (สัพเพ ธัมมา อนัตตา)
จึงไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่น (สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)
เหตุที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดชัดเจนอย่างช้า ๆ ๆ ... แบบสโลโมชั่น เพราะมีเวลาเหลือพอที่จะมีความรู้ ความเข้าใจ รู้ชัดเจนอย่างแจ่มแจ้งภายในทั้งของตนเองและผู้อื่น ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งกรรมดี และกรรมชั่วที่เป็นเหตุและผล
มันจะเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านโดยสมบูรณ์
สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในปัจฉิมโอวาท
........ ดั่งนี้ แล
เอวัง ! ก็มีด้วยประการ ... ฉะนี้.
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
9 มีนาคม 2562