เหมือนดั่งพระโคธิกะ ท่านป่วยเป็นมะเร็งแล้วก็ปวด เจ็บปวดทรมานแสนสาหัส
แต่ท่านเป็นมะเร็งที่ … น่าจะเป็นในกระดูก หรือ ในเม็ดเลือดอะไรมั้ง ปวดมาก ทรมาน สมัยนั้นไม่มียาช่วย
พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จไปโปรดสอนในวันนั้น ก็จนเข้าใจชัดเจนหมดแล้ว แต่มันสู้ความปวดไม่ไหว สมัยนั้นไม่มียาที่จะช่วยมั้ง ไม่มียาที่จะช่วยทำให้ความปวดมันทุเลาลง ท่านก็เลยเอามีดมาเชือดคอตาย
ยมทูตสองตนก็เตรียมที่จะเอาไปลงโทษในขุมนรก ก็มารอท่าน
แต่พอท่านเชือดคอตาย ท่านรู้ว่า ...
“ไม่มีอะไร ๆ ที่ยึดมั่นถือมั่นได้”
ผู้ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นตัวมันเองได้
สิ้นผู้ยึดมั่นถือมั่น สิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น
"...บรรลุพระนิพพาน..."
พอดับขันธ์นิพพาน "จิตวิญญาณ" ที่จะเป็นกายโปร่งแสงที่พวกเรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มองด้วยตาทิพย์จะมองเห็น แล้วก็จะถูกพวกยมทูตเขามาลากเอาไป สองตนเค้ามารออยู่แล้ว ... หาไม่เห็น
หายแว๊บไปเลย กลายไปเป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ รวมกับความว่างเปล่าของธรรมชาติ และ จักรวาล หาตัวตนไม่มีเลย
เลยไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า วิญญาณของพระโคธิกะหายไปไหน จะเอาไปลงโทษในขุมนรก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "พระโคธิกะ" บรรลุพระนิพพานแล้ว ขณะที่เชือดคอตาย
ได้ปลงปล่อยวางหมดสิ้น บรรลุพระนิพพานแล้ว วิญญาณดับไปเหมือนดั่งเปลวไฟที่สิ้นเชื้อ จึงไม่มีตัวตนของเราที่จะออกจากร่างนี้ไปอีก เป็นอวสานในการเดินทางท่องเที่ยวในภพชาติ จบโดยสมบูรณ์บริบูรณ์ กลายไปเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ตลอดกาล อย่างเป็น "อมตธาตุ" "อมตธรรม" เป็น "ธรรมธาตุ" ตลอดกาล ไปเป็น “ธาตุ” ที่เป็นธรรมที่บริสุทธิ์
เหลือแต่ว่าสังขารก็ยังไม่ตาย ก็ใช้ประโยชน์ไป ใช้ประโยชน์ไป จนกว่าจะสิ้นอายุขัย
ผู้ที่สิ้นยึดแล้วไม่ยึดถือใด ๆ แม้แต่ "จิตผู้รู้"นั้นเอง ก็ไม่ยึดถือ"จิตผู้รู้"นั้นด้วย ไม่ยึดถืออะไรเลย ...แล้วก็ไม่ได้ยึดถือตัวเองด้วย
คือจิตผู้รู้เอง หรือ ใจผู้รู้นั้นเอง ก็ไม่ยึดถือตัวเองด้วย แล้วไม่ได้ยึดถือใด ๆ ในโลก ไม่ได้ยึดถือตัวเองผู้รู้ด้วย ไม่ยึดถืออะไรเลย มันเลยกลายเป็นความบริสุทธิ์ เพราะไม่ยึดถืออะไรเลย
เมื่อสิ้นความยึดถือ ไม่ยึดถือแม้แต่ตัวเอง ที่เป็น “จิตผู้รู้” หรือ “ใจผู้รู้” นั้นเองที่ไปรู้เขา มันก็ไม่ยึดถือตัวของมันเองด้วย
เลยสิ้นความยึดถือโดยสมบูรณ์บริบูรณ์ เรียกว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” คือ เมื่อสิ้นผู้ยึดถือแล้ว ก็เลยบรรลุพระนิพพาน เรียกว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” ครั้งหนึ่ง
"จิต" หรือ "ใจ" ที่สิ้นความยึดถือแล้ว เป็นจิตหรือใจที่ปลดเกษียณ เปรียบเหมือนว่าเราทำงานเนี่ย ทำงานแล้วก็ทางร่างกายก็ปลดเกษียณ ..."ปลดเกษียณ"
แล้วก็ ... ตอนนี้ใจสิ้นยึด สิ้นปรุงแต่งแล้ว สิ้นยึดถือแล้วก็เลย "ปลดเกษียณทางใจ"
"ว่างเปล่า" ว่างเปล่าจากภาระทั้งมวล เป็นใจว่างงาน
เปรียบเหมือนใจว่างงานแล้ว ปลดเกษียณแล้ว "ว่างงาน"
ใจว่างงาน หมดแล้ว ภาระใด ๆ ทั้งมวลไม่มี
หรือ เรียกว่า ใจนั้นน่ะ เป็นใจที่ตายแล้ว
เพราะอะไร ?
เพราะว่า คนที่ตายแล้วเนี่ย มันจะกระดุกกระดิกไม่ได้
กลายไปเป็นใจที่ตายแล้ว ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า คือ สิ้นกิเลสนั่นเอง
เรียกว่า... "ใจตายจากกิเลส ตายจากโลก"
ใจไปถึงซึ่งความไม่กระดุกกระดิกเหมือนคนตายแล้ว เป็นความไม่กระดุกกระดิกเพราะว่า ... "สิ้นกิเลส" ... "สิ้นความยึดถือ" เลยกลายเป็นใจที่ไม่กระดุกกระดิกโดยธรรมชาติของเขา คือ ...ไม่มีตัวจิต ตัวใจ
มันเลยไม่มีอะไรกระดุกกระดิก เพราะไม่มีตัวตนของตัวจิตตัวใจ ไม่มีกายโปร่งแสง ที่รูปร่างเหมือนตัวเรา ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความว่างเปล่า ความเงียบ ความสงบ ความร่มเย็น เงียบ สงบ สงัด ไปถึงก้นบึ้งหัวใจ ซึ่งมันก้นบึ้งก็ไม่มี ไม่มีก้นไม่รู้มันทะลุไปถึงไหน หาที่อยู่ที่ตั้งของมันก็ไม่มี ว่าก้นบึ้งหัวใจมันอยู่ที่ไหน
แต่มัน เงียบ สงบ สงัด เย็นไปถึงก้นบึ้งหัวใจ ที่มันไม่มีก้น มันทะลุไปถึงจักรวาล
มันไม่มีคำพูดใด ๆ ออกมาอีก
มันสิ้นสมมุติ สิ้นบัญญัติ "สิ้นสมมุติบัญญัติ "
มันไม่เรียกว่าอะไรอีกแล้ว มันไม่มี "กิริยา" ที่ต้องทำรู้ละปล่อยวางอะไรอีกแล้ว เพราะมันไม่มีผู้ยึดถือใด ๆ แล้ว
กิริยาที่ต้องไปรู้ละปล่อยวางอะไร มันก็เลยไม่มีแล้ว
มันกลายเป็นใจที่ตายแล้ว ตายจากสิ่งเร้า ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า
จึงเป็น “สอุปาทิเสสนิพพาน”
แล้วก็เหลือแต่ขันธ์ห้า ที่ยังไม่ตาย ก็ต้องแก่
อย่างหมอนี่ก็ต้องแก่ ความเจ็บป่วยก็มีอยู่ ที่สุดก็ต้องแตกดับ เรียกว่า ตาย
กายตาย แต่ใจน่ะมันตายไปก่อนแล้ว ตายจากสิ่งเร้า ใจมันไม่มีตัวตน ไม่มีอะไร มันไม่กระดุกกระดิกเลย เปรียบเหมือนใจมันตาย
ตายจากสิ่งเร้า ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าแล้ว เหลือแต่ขันธ์ห้า ที่ยังกระดุกกระดิกเดินไปเดินมาพูดคุยกันได้ เนี่ย... เรามาพูดคุยกันได้
เมื่อขันธ์ห้า สิ้นอายุขัย มันเป็นเศษของกรรมที่เหลือ มันเกิดมาจากกรรมเก่า ที่เรายังมีอวิชชา ยังหลงยึดถืออยู่ มันเลยเป็นกรรมเก่าที่ทำให้มาเกิด เป็น "อวิชชา" ทำให้เกิด "สังขารกรรม"
"สังขารกรรม" ทำให้เกิด "วิญญาณกรรม" วิญญาณที่เป็นกายโปร่งแสงมันไม่ดับ
เวลาตายแล้ว “จิต” หรือ “วิญญาณ” ที่เป็นกายโปร่งแสงมันไม่ดับ มันเลยไปเกิดเป็น “ปฏิสนธิวิญญาณ” ที่จะไปเข้าร่างใด ไปเข้าร่างสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ไปเข้าร่างมนุษย์ร่างใหม่ ไปเข้าท้องของคนอื่น ไปเป็นเทพเทวดาอะไร เพราะว่ากายโปร่งแสงมันไม่ดับ
กายโปร่งแสงไม่ดับ เพราะมันเป็น "อวิชชา" ยังไม่สิ้นอวิชชา พอไม่สิ้นอวิชชา มันก็เลยก่อให้เกิด"สังขารกรรม" ก็คือ ปรุงแต่งเป็นสังขารกายโปร่งแสง รูปร่างเหมือนตัวเรา ออกจากร่างเราไป แล้วก็ยมทูตก็ลากเอาไปพิพากษาลงโทษ
พอ "อวิชชา" ดับ "จิตตสังขาร" ที่มันสร้างไว้ ที่สร้างมาเป็นวิญญาณที่เป็นรูปร่างเหมือนตัวเรา ก็ดับวูบลง
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า"วิญญาณ" คือ "ปฏิสนธิวิญญาณ" แต่วิญญาณที่จะไปเกิดเนี่ยดับไปเหมือนดั่งเปลวไฟสิ้นเชื้อ หายไปเลย ... หายไป
ก็เลยพอสิ้นอายุขัย ขันธ์ห้าดับ
ตอนนี้นิพพานอีกครั้งหนึ่ง คือเรียกว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน”
คือ ดับเศษของความทุกข์ยากลำบากทางกาย ที่เหลือเป็นส่วนน้อย เค้าเรียกว่าเศษของกรรม เลยเป็น “อนุปาทิเสสนิพพาน”
"ก็จบ ... โดยสมบูรณ์บริบูรณ์ ..."
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากไฟล์เสียง
190215B-1 ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือดั่งเปลวไฟที่สิ้นเชื้อ
15 กุมภาพันธ์ 2562
ฟังจากยูทูป :
https://www.youtube.com/watch?v=vRMuczo7kkA