มนุษย์เรา คุ้นเคยและเคยชินกับการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยมีเราเป็นผู้กระทำ และเป็นผู้รับผลของการกระทำนั้น ๆ ในทางโลก เมื่อต้องการสิ่งใดจะต้องมีการกระทำเพื่อให้ได้ ให้เป็น ให้ถึงอะไร ๆ แต่ในทางธรรม สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสังขารปรุงแต่ง หากหลงยึดถือก็จะเป็นอวิชชา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และเป็นต้นเหตุของวัฏฏะ มีการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่จบสิ้น
เพราะความไม่รู้ที่มี “อวิชชา” บังตาบังใจ เกิดอุปาทาน หลงผิด ไปยึดถือกายนี้ใจนี้ ว่าเป็นเรา ตัวเรา ของเรา เมื่อมาปฏิบัติธรรม ความเป็นตัวเป็นตน (อัตตา) ซึ่งมาพร้อมความทรงจำ ที่เป็นสังขารวิบาก และวิญญาณวิบาก หรือเป็นอนุสัย ที่ติดตัวมาหลายภพหลายชาติ มาใช้ มากระทำเพื่อให้ได้ ให้เป็น ให้ถึง ให้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ในใจ
ถึงแม้พ่อแม่ครูอาจารย์ จะพร่ำสอนอย่างไรว่า “ในทางธรรมนั้นต้องทวนกระแสโลก” ให้มีสติ สมาธิ ปัญญา “รู้เห็นไปตามความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น ทุกปัจจุบันขณะ” และต้อง “หยุดทำ” คือไม่หลงไปกระทำ ไปเป็น หรือไม่ไปอะไรกับอะไร “ให้สักแต่ว่ารู้”
คำสอนนี้จึงฝืนและขัดกับความรู้สึกเดิม ๆ หรือสัญญาเก่า ๆ ของตนที่ติดมา การแปลความหมายของตนจึงผิดเพี้ยนไปจากแนวทางที่พ่อแม่ครูอาจารย์บอกสอน การปฏิบัติจึงเป็นได้แค่เพียงความจำ ไม่ปรากฏเป็นความจริงในใจเสียที
หากผู้ปฏิบัติศึกษาทำความเข้าใจ ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ไม่หลงเพลินไปทั้งทางโลกและทางธรรม เชื่อมั่นในพ่อแม่ครูอาจารย์และคำบอกสอน กล้าที่จะทิ้งความเคยชินเดิม ๆ เพียงหยุดการปรุงแต่ง หยุดการกระทำใด ๆ ทางจิต
ดังที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโลได้กล่าวสอนไว้ว่า
“ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน อยู่กับความไม่มี ไม่เป็น ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดแสวงหา หยุดกิริยาจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง”
“จิตเดิมแท้ เป็นความบริสุทธิ์ของเขาอยู่แล้ว ในทุกคน ให้เลิกละการค้นและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เพื่อให้จิตเหลือแต่ความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”
หน้าที่ของผู้ปฏิบัติ คือ มีสติทุกปัจจุบันขณะ สักแต่ว่ารู้ รู้ทุกอย่างแต่ไม่ยึดสักอย่าง เห็นสังขารปรุงแต่ง ว่าเป็นของเกิดดับ อยู่ในความไม่เกิดไม่ดับ ไม่ใช่เรา ตัวเรา ของเรา ยึดถือหรือบังคับบัญชาไม่ได้
เมื่อเกิดการกระทบทางอายตนะทั้งหก คือทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมต้องเกิดความคิดปรุงแต่ง เกิดธรรมารมณ์ตามมาเป็นธรรมดา จะห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ ได้แต่รู้เท่าทัน หรือ “สักแต่ว่ารู้” เท่านั้น โดยไม่หลงไปเป็น ไปคิด ไปกระทำใด ๆ โดยไม่รู้ตัวว่าหลง ว่าคิด หรือ
ให้ "รู้หลง"... ไม่ใช่... "หลงรู้"
ให้ "รู้คิด"... ไม่ใช่... "หลงคิด"
ให้ "รู้ตัวเรา"... ไม่ใช่... "เอาตัวเราไปรู้"
หมั่นฟังธรรม อ่านธรรม สังเกตเรียนรู้ สิ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์ ได้เมตตาชี้แนะ ให้เห็นอวิชชาที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ เมื่อรู้แล้ว เห็นแล้ว เข้าใจแล้ว ก็นำไปทบทวน เพื่อไม่ให้หลงไปกระทำซ้ำอีก ให้อยู่กับรู้ ไม่ทิ้งรู้ เป็นรู้คู่สังขาร ที่รู้เท่าทันความเพลิน ความพึงพอใจ ความพยายาม จงใจ เจตนา ตั้งใจ แอบชอบแอบกระทำใด ๆ ในจิต ที่ขยับ เคลื่อน ไหว แม้เพียงน้อยหนึ่ง นิดหนึ่งหรือปรมาณูหนึ่ง ล้วนเป็น “ความมี” หรือ เป็น “สังขาร” ที่เกิดดับ อยู่ในความไม่มี หรือ “ความไม่เกิดไม่ดับ” หรือ “วิสังขาร” ทั้งสิ้น
มีสติอย่างสมบูรณ์เป็นวิหารธรรม ทุกปัจจุบันขณะสักแต่ว่ารู้ เป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้จิตได้เรียนรู้ (ภาวนามยปัญญา) คลายความยึดถือ สลัดอวิชชาที่หุ้มห่อออกไปเรื่อย ๆ และคืนสู่ธรรมชาติได้ในที่สุด
“หยุดทำ” นั่นแหละ คือ “ธรรม” !!!
เพราะไม่มีเรา จึงไม่มีใครต้องไปอะไรกับอะไร ปล่อยให้ทุกสิ่ง “เป็นอย่างที่มันเป็น” มีแต่ธรรมชาติของสังขารและวิสังขาร ที่ทำงานคู่กัน
... ว่างเปล่าจากตัวตน
... ว่างเปล่าจากผู้ยึดถือ
... ว่างเปล่าจากสมมุติใด ๆ ทั้งสิ้น
เป็นธรรมชาติแท้ ๆ ของมันอย่างนั้นเอง
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
12 มิถุนายน 2561
ที่มาภาพ : อัลบัมภาพสื่อธรรม
ที่มาโอวาทธรรม : เวบไซท์ทางการ
http://www.luangtanarongsak.org/home/index.php/2017-10-14-13-20-39/item/2008-2018-06-13-04-47-45