ถ้าหากทุกขณะปัจจุบันที่มีการรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ คือ อาการของจิตทุกชนิด ไม่ว่าจะถูกใจ ไม่ถูกใจ สุข ทุกข์ ผ่องใส เศร้าหมอง กุศล หรือ อกุศล ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว ไม่มีผู้หลงยึดถือ หรือ ไม่ติด ไม่ยึดสิ่งใด แล้วสังเกตใน “ใจ” ของเจ้าของให้ดีดี ก็จะ “รู้ความจริง” ว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหมดนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา ในท่ามกลาง “ใจ” ที่ว่างเปล่าไร้ขอบเขต ไม่มีตัวจิต ตัวใจ ไม่มีการเกิดดับ ไม่มีอะไรปรากฏเลย
“ใจ” นี้ แหละ คือ ที่สุดแห่งทุกข์
อย่าไปหลงผิดเอา “สังขาร” ที่กำลังมีความรู้สึก นึก คิด ตรึก ตรอง ปรุงแต่ง ดิ้นรน ค้นหา พยายาม สงสัย รวมทั้ง “ผู้รู้” ในทุกปัจจุบันขณะมาเป็น “ใจ” ที่ว่างเปล่าอันไม่มีขอบเขต ที่อยู่ในท่ามกลางสังขารที่เกิดดับทุกปัจจุบันขณะ
หากสิ้นหลงยึดถือ คือ อวิชชาแล้ว ใจหรือธาตุรู้เขาย่อม “รู้จักใจ” ของเจ้าของ ว่าเป็นเหมือนความว่างของอวกาศ เพราะไม่มีตัวตน มีแต่ชื่อ ไม่มีแม้แต่ตัวจิตหรือตัวใจ ไม่มีรูปพรรณสัณฐานใด เป็นวิสังขาร เป็นอสังขตธาตุ หรือ อสังขตธรรม จึงไม่มีปรากฏการเกิดดับ คงปล่อยให้สังขารเขาคิดปรุงแต่ง หรือจะเป็นอย่างไรก็ตาม เกิดดับอย่างเก้อ ๆในทุกปัจจุบันขณะ โดยไร้ผู้หลงยึดถืออีกต่อไป
เปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรม
ขันธ์ห้ารวมทั้งจิตตสังขาร คือ ความคิด ปรุงแต่งต่าง ๆ ในทุกปัจจุบันขณะนี้ เป็นเหมือนลูกโลก ส่วนใจเปรียบเหมือนอวกาศที่ว่างเปล่าไร้ขอบเขต
ดังนั้น โลกจึงไม่ใช่อวกาศ โลกเป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ ดุจปรมาณูที่ลอยอยู่ในอวกาศเท่านั้น
เช่นเดียวกัน “จิตตสังขาร” ก็เป็นเพียงปรมาณูที่เกิดดับอยู่เหนือใจที่ว่างเปล่าไร้ขอบเขตดุจอวกาศ
ดังนั้น สังขารจึงไม่ใช่ใจ หรือ ใจไม่ใช่สังขาร
สังขาร เขาก็สังขารปรุงแต่งเกิดดับของเขาไป ไม่ว่าจะสุข ทุกข์ ผ่องใส เศร้าหมอง ไม่ว่าจะคิดปรุงแต่งหรือมีอาการหรืออารมณ์อย่างใด ๆ ส่วนใจก็คงว่างเปล่าไร้ขอบเขต ไม่มีตัวจิตหรือตัวใจของเขาไป เพราะ “มันเป็นธรรมชาติคนละส่วนกัน”
“อยู่กับรู้ความจริง” อย่างนี้ ไม่หลงยึดถือเอาขันธ์ห้า รวมทั้งจิตตสังขารมาเป็นใจอีกเลย
ดังนั้น ไม่ว่าขันธ์ห้าจะเป็นอย่างไร “ใจ ก็คงเป็น ใจ” ที่เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ หรือ อสังขตธรรม ที่เป็นความเปล่าไร้ขอบเขต เป็นมหาสุญญตา หรือ อวกาศแห่งจิตเดิมแท้ ตลอดไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ธาตุขันธ์แตกดับ
ส่วนใจหรือจิตเดิมแท้ หรือ วิญญาณที่สิ้นอวิชชาแล้ว ก็ดับไปเหมือนเปลวไฟที่สิ้นเชื้อ รวมเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างของจักรวาลเดิม
ไม่ใช่หลงเข้าใจผิด ไปอยู่กับความว่าง เพราะถ้าอยู่กับความว่าง มันหลงมีตัวเรามายึดถือความว่าง
และความว่างที่หลงยึดถือได้ แสดงว่าไม่ใช่ใจหรือวิสังขาร เพราะใจหรือวิสังขารไม่มีอะไรปรากฏ ไม่มีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายใดให้ถูกยึดถือได้
ความว่างที่ถูกยึดถือได้นั้น เพียงความปรุงแต่งสร้างขึ้นมาจากสังขาร มันไม่ใช่ “ใจ หรือ วิสังขาร”
ต้องอยู่กับ “รู้ความจริง” เช่นนั้น
จึงจะไม่มีผู้หลงยึดถือทั้งสังขาร และ วิสังขาร
เมื่อไม่มีผู้หลงยึดถือแล้ว
สังขาร ก็คงเป็น สังขาร
วิสังขาร ก็คงเป็น วิสังขาร
หรือเป็นใจที่ว่างเปล่าไร้ขอบเขต ไม่สังขาร ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปพรรณสัณฐานใด ไม่มีแม้แต่ตัวจิตหรือตัวใจ คงมีแต่ชื่อสมมติเท่านั้น
ถ้าอยู่กับรู้ความจริงเช่นนั้น หรือ สักแต่ว่ารู้ หรือ รู้ชื่อซื่อ หรือ รับรู้ด้วยความเป็นกลาง ตลอดเวลา “เพราะไม่มีผู้ยึดถือ” จึงไม่มีผู้ทุกข์ นี่แหละ คือ “นิพพาน”
ดังนั้น นิพพานจึงไม่ใช่สภาวะ หรือ เมือง หรือ สถานที่ หรือ ความสุข หรือ “ความว่าง” หรืออะไรที่คนทั้งหลายหลงเข้าใจผิดคาดหมายไว้ว่า จะมีเราหรือตัวเราไปถึง ไปได้ ไปเป็นอย่างที่คาดหมายไว้นั้น
แท้ที่จริง “สักแต่ว่ารู้ความจริง” หรือไม่มีผู้หลงยึดถือ เท่านั้น จึงไม่มีผู้ทุกข์ เรียกว่า นิพพาน
นิพพานจึงไม่ใช่ความว่าง แต่เป็นความพ้นทุกข์ เพราะไม่มีผู้ยึดถือ หรือ รับรู้ทุกอย่างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติธรรมชาติ แต่ไม่ติด ไม่ยึดอะไรสักอย่างเดียว... นิพพาน
แต่ถ้ายึดถือความว่าง หรือ ยึดถือ “ใจ” ย่อมมีผู้ทุกข์ จึงไม่นิพพาน
สมดังพุทธพจน์ ว่า..
“... ดูก่อนพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูก่อนพาหิยะท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล
ดูก่อนพาหิยะในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี
ในกาลใดท่านไม่มี ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์...”
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
8 มิถุนายน 2561
ที่มาภาพ : อัลบัมภาพสื่อธรรม
ที่มาโอวาทธรรม : เวบไซท์ทางการ
http://www.luangtanarongsak.org/home/index.php/2017-10-14-13-20-39/item/1973-2018-06-10-09-14-44