สภาวะจิต สภาวะธรรม หรือ สิ่งใดที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในทุกขณะปัจจุบัน เขาเป็นไปอย่างไร ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงของเขาให้ได้ (ยถาภูตญาณทัสสนะ) ก็จะไม่ทุกข์กับเขา เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูก ถ้าทำใจยอมรับตามความเป็นจริงของเขาไม่ได้ ก็จะพากันเป็นทุกข์ทั้งพ่อแม่ และ ลูก
เรามีหน้าอบรม เลี้ยงดูเขาเท่านั้น แต่ไม่มีหน้าที่ยึดถือเขา คือ อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ หรือ ไม่อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ หรือ อยากให้เขาเป็นอย่างที่เราอยาก มันจะเป็นความทุกข์
จิต ก็เหมือนกับลูกของเรา อย่ามีความอยากหรือไม่อยากต่อเขา และอย่าไปกลัวความสงบ ความสุข เพราะความสงบ และความสุขก็ไม่เที่ยง ให้เรียนรู้จากธรรมชาติความจริงของเขาอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีมายา ไม่ต้องหนี ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวล ให้รับรู้เขาตามความเป็นจริง ซื่อ ๆ .. อย่างตรงไปตรงมา ก็จะชัดเจนถึงใจในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าไม่อาจยึดถืออะไรได้เลย
ถ้ายึดถือ คือ มีกิเลส ตัณหา ต่อสิ่งใดที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในปัจจุบันขณะ เช่น จิตเขาเป็นอย่างนี้ แต่อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น หรือเขาเป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ หรือ เขาเป็นอย่างนี้ ก็อยากให้เขาเป็นอย่างนี้ ไม่อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น
ถ้าขณะจิตใด หรือ ขณะใดในปัจจุบันขณะ มีความอยากหรือความไม่อยากในทางตรงกันข้ามกับความเป็นจริงในปัจจุบันขณะนั้น ทั้งภายนอกหรือภายใน ก็จะเกิดมีตัวตนของผู้อยาก (อวิชชา) ทันที
ถ้าไม่มีความอยากหรือความไม่อยาก (ตัณหา) ต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือ ธรรมารมณ์ ที่ฝืนกับความเป็นจริงในปัจจุบันทั้งภายนอกและภายใน ก็จะไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ หรือ ตัวตนของผู้อยาก
ขณะจิตที่มีตัณหา ย่อมมีความยึอถือ (อุปาทาน) และเกิดอวิชชา (ตัวตนของผู้ยึดถือ)
ถ้าไม่มีตัณหาต่อสิ่งที่มากระทบ ก็ไม่มีการยึดถือ (อุปาทาน) และ ไม่เกิดอวิชชา (ตัวตนของผู้ยัดถือ)
หรือ
ถ้าไม่มีอวิชชา ก็ย่อมไม่มีตัณหา อุปาทาน
ครั้น จะมีปัญหาถามว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ใครเกิดก่อนกัน
ถ้าไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีตัณหา อุปาทาน
ถ้าไม่มีตัณหา ก็ไม่มีอุปาทาน อวิชชา
ถ้าไม่มีอุปาทาน ก็ไม่มีตัณหา อวิชชา
ปัญหานี้ มันจึงเหมือนปัญหาที่เขาถามกันว่า ไก่ กับ ไข่ ใครเกิดก่อนกัน ?? ...
ถ้าได้แต่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
โดยไม่มีความอยากหรือความไม่อยาก ในลักษณะที่ฝืนกับความเป็นจริงของเขาในปัจจุบัน ก็จะไม่มีกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นเหตุเกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ และความทุกข์ หรือ พ้นทุกข์ (นิพพาน)
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562