ปรารภเหตุจากโอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่แบน ธนากโร...
“... ในเมื่อของนั้นเป็นของเกิด อันนั้นจะต้องแตกสลาย จะต้องดับไปทั้งนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ปล่อยวางเสีย อย่าไปติดในปีติ อย่าไปติดในสุข แม้แต่ เอกคฺคตา ก็ทรงไม่ให้ไปติด ให้วางเป็นอุเบกขาเสีย
อุเบกขาในระหว่างที่จิตเป็นเอกคฺคตานั้น เป็นอุเบกขาในองค์ฌานอุเบกขาในโพชฌงค์ โพชฌงค์นี้ทางแห่งความตรัสรู้ จิตเข้าถึงอุเบกขาฌาน จิตเข้าถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นจิตพร้อมที่จะตรัสรู้ เป็นจิตที่จะได้สำเร็จมรรคผล ญาณทัศนะพร้อมที่จะเกิด พร้อมที่จะรู้จะเห็นพร้อมที่จะเป็น พร้อมที่จะเกิดขึ้นในอุเบกขา
จิตที่เกิดขึ้นในอุเบกขาคือปล่อยวางทั้งหมด ใจเป็นมัชฌิมาอย่างเต็มที่
ใจเป็นมัชฌิมาสมบูรณ์บริบูรณ์ที่เรียกว่า สมฺมาทิฏฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ อันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นมรรค องค์มรรคทั้งหมดในเมื่อสรุปลงไปแล้วเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ปล่อยวางหมดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มรรคเป็นข้อปฏิบัติ
มรรคในเมื่อมีการประชุมรวมกันเข้าเป็นหนึ่ง นี้ล่ะจุดแห่งความตรัสรู้ จุดที่จะได้สำเร็จมรรคสำเร็จผล (๒๘ ต.ค.๓๑)...”
โอวาทธรรมหลวงปู่แบน ธนากโร
จากหนังสือทางแห่งมรรคผล หน้า ๒๕๘
~~~~~~~~~~~~~~~
โยมอ่านโอวาทธรรมข้างต้นแล้วกราบเรียนถามองค์หลวงตาดังนี้
โยม : จากโอวาทธรรมของหลวงปู่แบนครับ
ท่านชี้ว่า... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ในฐานะที่ “ใจเป็นมัชฌิมาสมบูรณ์บริบูรณ์” พร้อมแล้วที่จะเห็นความจริง หรือสำเร็จมรรคผลได้ แต่ยังเป็น “มรรค”
ผมมีความเข้าใจน้อยครับ แต่รู้สึกว่าอุเบกขานี้ก็ยังไม่สิ้นสุดคำพูดในใจ ยังไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นมรรคจิตที่เป็นกลางหรือปล่อยวางทั้งหมดสมบูรณ์ที่สุด เพื่อบรรลุความจริงที่เรียกชื่อตามสมมุติว่า นิพพาน
หลวงตา : อุเบกขาในฌานที่สี่ (จตุตถฌาน) เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าจัดเข้าในโพชฌงค์ ก็เป็น “สมาธิสัมโพชฌงค์” ยังไม่ได้เป็นวิปัสสนาญาณ
ต่อเมื่อออกจากอารมณ์ฌาน แล้วมีสัมปชัญญะ มีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงจะเป็นวิปัสสนาญาณ
แต่ถ้าจิตเป็น “อุปจารสมาธิ” ไม่รวมเป็นอัปปนาสมาธิ (ฌาน) โดยมีสัมปชัญญะ มีสติพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย กรณีอย่างนี้ก็จัดเป็น “สมาธิสัมโพชฌงค์”
จนรู้แจ้งแก่ใจว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปล่อยวางความหลงยึดมั่นถือมั่น ก็จะสักแต่ว่ารู้ เป็น “อุเบกขาสัมโพชฌงค์”
การปฏิบัติ ถ้ามีสติ สมาธิ ปัญญา ถึงขั้นรู้แจ้งจากใจว่า...
ขณะจิตใดในปัจจุบันขณะ พฤติแห่งจิต (พฤติกรรมของจิต) อย่างนี้เป็นรู้ (วิสังขาร) ไม่ได้เป็นคิด (สังขาร) ซึ่งเป็นธรรมแท้ (วิสังขาร อสังขตธรรม หรือ นิพพาน)
ขณะจิตใดในปัจจุบันขณะ เป็นคิด (สังขาร) ไม่เป็นรู้ (วิสังขาร) เป็นสภาวะทุกข์ (เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
แต่อยู่ในขั้นตอนของการฝึกเป็นรู้ (วิสังขาร) บ้าง แล้วหลงเป็นคิด (สังขาร) บ้าง แต่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร และขันติ มีความรู้แจ้งอย่างนี้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ก็จะทำให้หลงคิด (สังขาร) น้อยลงไปเรื่อย ๆ ๆ ....... จนแทบจะเป็นรู้ (วิสังขาร) ทั้งหมด ไม่หลงคิดเลย
แต่ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ แม้จะมาถึงตรงนี้ ก็แอบหลงคิดปรุงแต่งให้เป็นรู้ (วิสังขาร) เพื่อไม่ให้หลงคิด (สังขาร) กรณีอย่างนี้ เป็นการหลงคิด (สังขาร) ไม่ได้เป็นรู้ (วิสังขาร)
การปฏิบัติมาทั้งหมดนั้น แม้จะถูกทางอริยมรรค และ ขณะจิตใดเป็นรู้ (วิสังขาร) ซึ่งเป็นรู้ที่เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ แต่ยังไม่เสร็จกิจ (นิพพาน) ก็ยังเป็นมรรคอยู่
*****จนกว่าจะเสร็จกิจ (นิพพาน) คือ ใจเป็นธรรมชาติรู้บริสุทธิ์ (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) หรือ เป็นอมตธาตุ อมตธรรมโดยสมบูรณ์สิ้นเชิง
ถึงตรงนี้แล้ว “รู้” ซึ่งเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นอริยผลแล้ว ซึ่งเป็นวิหารธรรม หรือ เครื่องอยู่ของพระอรหันต์ทั้งหลาย
ส่วนอริยมรรค ซึ่งมีสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ขันติ ความเพียรเป็นรู้ (วิสังขาร) ไม่หลงเป็นคิด (สังขาร) ได้จบสิ้นลงไปแล้ว
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากสนทนาธรรมกับคณะศิษย์
วันที่ 19 ตุลาคม 2563
~~~~~~~~~~~~~~~
ไฟล์เสียงแนะนำเกี่ยวกับโพชฌงค์
200326B โพชฌงค์ 7
https://youtu.be/T669EGJ4pV0
200428B2-2 โพชฌงค์7 องค์แห่งการตรัสรู้
https://youtu.be/PI0k6AdZlhk
200417B-4 อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ตอน1
https://youtu.be/64qNtYi7GG0
200417B-5 อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ตอน2
https://youtu.be/ju1edfLMqII
201008B-1 สัมโพชฌงค์ 7
https://youtu.be/U3QruiB2LDQ
200816A-3 ปีติสัมโพชฌงค์
https://youtu.be/jsNyHmo05wo
190216A-1 อุเบกขาที่แท้จริง
https://youtu.be/TzYG5gPbeQU
~~~~~~~~~~~~~~~