พระพุทธเจ้าตรัสกับพาหิยะว่า พาหิยะเธอจงฟังให้ดี... ถ้าเห็นอย่างที่ตาเห็น ได้ยินอย่างที่หูได้ยิน ได้กลิ่นอย่างที่จมูกได้กลิ่น ลิ้มรสอย่างที่รู้รส กายสัมผัสอย่างที่รู้สัมผัส รู้ทางใจอย่างที่รู้... เธอจะนิพพาน
"หลวงปู่ทา จารุธัมโม" ท่านพูดนานแล้วว่า "รู้ซื่อ ๆ... นิพพาน" ก็คือคำเดียวกับที่พระพุทธเจ้าพูดกับพาหิยะนั่นแหละ "สักแต่ว่า... "
เห็นยังไงก็เห็นอย่างนั้น ได้ยินยังไงก็ต้องได้ยินอย่างนั้น เพราะมันเป็นธรรมชาติ
"ตา" มันไปแก้ไขสิ่งที่มันเห็นไม่ได้
"หู" มันก็ไปแก้ไขในสิ่งที่มันได้ยินไม่ได้
อาการในใจ "ใจ" มันรู้อาการในใจ ก็เหมือนตาเห็นรูป ตาจะไปแก้ไขอาการยังไงก็ไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมความจริงนี้ที่พระพุทธเจ้าสอน "ใจ" มันไปแก้ไขสิ่งที่มันรู้ในใจไม่ได้
เหมือนตามองเห็นไมโครเวฟร้อน ตาจะไปช่วยให้ไมโครเวฟเย็น... ทำไม่ได้
"ใจ" มันเห็นอาการแช่ (หลงติดจมอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง) ใจจะไปช่วยให้หายแช่ไม่ได้ ใจก็ได้แต่รู้ว่าแช่... ไม่แช่...
แช่... ไม่แช่... ไม่ได้ทำให้พ้นทุกข์ แต่พ้นทุกข์ที่ใจได้แต่รู้
มันพ้นทุกข์ คือ ใจน่ะมันรู้อาการของใจเหมือนตาเห็นรูปซื่อ ๆ.... ไม่ใช่ว่าแช่แล้วพอไม่แช่เป็นนิพพาน... ไม่ใช่!!! ถ้ามันรู้ซื่อ ๆ รู้ยังไงก็รู้อย่างนั้นแหละเค้าเรียก "นิพพาน"
พระพุทธเจ้าตรัสเลยว่า เธอจะบรรลุนิพพาน จะไม่มีตัวตนของเธอในโลกนี้ ไม่มีตัวตนของเธอในโลกหน้า... ในโลกทั้งสอง เธอจะสิ้นกิเลสบรรลุพระนิพพานในปัจจุบันนี้เลย
พาหิยะฟังจบก็บรรลุพระนิพพานเลย
อ๋อ... มันเป็นธรรมชาติที่มันได้แต่รู้ซื่อ ๆไปทำอะไรไม่ได้หรอก
รู้ซื่อ ๆ
นิพพานไม่ได้เป็นที่อาการที่ถูกรู้ แต่มันเป็นที่ได้แต่รู้ซื่อ ๆ
รู้ซื่อ ๆไม่ใช่ว่าจะต้องไม่มีความอยากไม่มีอะไรนะ คือ มันมี "ความอยาก"... ใจก็ได้แต่รู้ว่าอยาก
"ไม่อยาก"... ใจก็รู้ว่าไม่อยาก มีอาการอะไรเกิดขึ้นมา ใจทำอะไรกับอาการไม่ได้
เหมือนตาเห็นไมโครเวฟร้อน ต่อไปหันไปมองคนมันเห็นคนไหนก็ต้องเห็นคนนั้นแหละ คนไหนหน้าตาเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้นแหละ จะให้ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเค้าก็ไม่ได้ เปลี่ยนคนให้หญิงเป็นชาย... ชายเป็นหญิง ก็ไม่ได้
พอหันไปมองต้นไม้มันก็ต้องเห็นต้นไม้ หันไปเห็นพัดลมเห็นอะไรก็คือเห็นอย่างที่ตามันเห็นน่ะ
"ใจ" ก็ต้องรู้อย่างที่ใจมันรู้... มันอยาก มันโมโห มันมีอารมณ์ ทุกอย่างที่มีอาการ ใจก็ต้องรู้อาการ มันได้แต่รู้อาการ อาการอะไรเปลี่ยนไป... เปลี่ยนไปทุกปัจจุบันขณะ มันก็เหมือนกับตาที่เห็นรูปเปลี่ยนไป... เปลี่ยนไป... แต่ตาไปแก้ไขอะไรรูปไม่ได้ ธรรมชาติของตาได้แต่เห็น หูได้แต่ได้ยิน แก้ไขอะไรไม่ได้ ใจก็ได้แต่รู้อาการใด ๆ ที่เปลี่ยนไป... เปลี่ยนไป... ใจจะไปแก้ไขอาการใด ๆ ไม่ได้
ทำญาณให้เห็นจิตเหมือนดั่งตาเห็นรูป
ท่านจึงบอกว่าให้รู้อาการของใจ ทำญาณให้เห็นอาการของใจเหมือนดั่งตาเห็นรูป การรู้ทางใจ เค้าเรียกว่า"ญาณ" คือ "รู้"... ทำญาณให้เห็นธรรมารมณ์ เห็นอาการของใจ เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป
เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจนึกว่าต้องทำญาณทำอะไรให้มันลึกซึ้ง ญาณนี่มันคือความรู้ทางใจ ญาณรู้จิตเหมือนดั่งตาเห็นรูป ก็คือรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในใจ รู้ "จิตตสังขาร" ความปรุงแต่งเหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อไหร่รู้ในใจเหมือนดั่งตาเห็นรูป นั่นแน่ะ!พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อนั้นพาหิยะเธอจะนิพพาน
เวลาปฏิบัติทุกขณะปัจจุบันเวลาตาเห็นรูป ตามันไม่เคยเห็นตา ตรงนี้สำคัญมากนะ!!! เวลาตาเห็นรูปตาไม่เคยเห็นตา... มันเห็นแต่รูป เวลาใจรู้อาการ มันจะรู้แต่อาการ แต่เมื่อไหร่ที่ "รู้ใจ" แสดงว่าผิด เพราะธรรมชาติที่รู้... มันรู้แต่สิ่งที่ถูกรู้ มันจะรู้ตัวมันเองไม่ได้!!!
ถ้าอยากจะเห็นตาตัวเอง พอเห็นรูปเสร็จแล้วเอาตาไปส่องกระจกก็เลยเห็นตา... เห็นตาในกระจกใช่ตามั้ย?... ไม่ใช่! เมื่อไหร่ที่รู้ใจนั่นน่ะคือ "ไม่ใช่ใจ" คือ เท่ากับเอาตาไปส่องกระจก
ถ้ารู้อาการ มันก็จะรู้แต่อาการแต่รู้ใจไม่ได้ ก็เหมือนตาไม่เคยเห็นตาได้หรอก เกิดจนตายเห็นตาได้เมื่อไหร่
โยม : อาการที่มันเกิดมาแต่ละครั้ง มันมีตัวรู้... แต่ตัวรู้มันคือไม่ใช่ใจแต่มันเป็นรู้เฉย ๆ ถูกมั้ยอาจารย์ คือสมมุติว่าอย่างโยมนั่งอยู่อย่างเนี้ยมีอาการของใจ... มันมีรู้ขึ้นมา แต่ถ้าสมมุติโยมมีความรู้สึกว่า ใจมันไม่สบาย ใจมันอึดอัด...
หลวงตา : ที่รู้สึกว่ามี "รู้" ขึ้นมามันไม่ใช่ "ใจ" นั่นคืออาการ
โยม : รู้ก็เป็นอาการอีกอาการนึง? ก็แสดงว่า...
หลวงตา : แล้วรู้ยังไงว่ารู้!... ที่รู้ว่าท่านรู้ยังไง คือ อาการที่ถูกรู้ด้วยใจ
โยม : งั้นถ้าเห็นอาการอื่นในใจเราแล้วมันมีตัวต่อจากที่เห็นแสดงว่าตัวต่อจากที่เห็นนั่นก็ไม่ใช่ใจ ก็เป็นตัวปรุงแต่ง... ปรุงแต่ง... ปรุงแต่ง ไปเรื่อย ๆ
สรุปแล้วก็คือเราเห็นตัวปรุงแต่ง คือ เห็นอาการของใจปุ๊บเนี่ยก็คือ อย่างที่หลวงตาพูดว่าเหมาเข่ง ก็คือจริง ๆ มันก็เห็นต่อจากที่เราเห็นอาการของใจ เราก็จะมีคิดต่อ มีวิจารณ์ต่อ มีอยาก ไม่อยาก อยู่ในอาการ หรือ บางทีก็แบบ หือ... ไม่เคยเห็นหน้าตาอย่างนี้เลยอาการของใจน่ะ
แสดงว่าแต่ละครั้งที่เราเห็น... ที่เราเห็น... ที่เราเห็นเนี่ย มันไม่ใช่ใจแต่มันเป็นจิตปรุงแต่ง... จิตปรุงแต่ง เราก็เห็นจิตที่มันปรุงแต่ง แค่นี้?
หลวงตา : ก็แค่นี้... ก็ใจไม่มีไง ถ้าเมื่อไหร่มีใจน่ะไม่ใช่ใจ ถ้ามีใจ คืออาการ
ถ้าเห็นว่ามีรู้... ก็คืออาการ ถ้าเห็นว่ามีใจ... ก็คืออาการ
เห็นว่ามีใจว่าง... ไม่ใช่ใจ อันนั้นคืออาการ
เห็นว่ามีรู้... รู้ก็ไม่ใช่ใจ นั่นก็คืออาการ
ใจไม่อาจถูกเห็นได้
โยม : แล้วเราพูดถึงใจทำไม?
หลวงตา : เพื่อเปรียบให้เห็นว่า มันไม่มีไง เพราะใจไม่มี มันเลยไม่มีคนทุกข์ สิ่งที่มีทั้งหมดที่รู้ได้ทั้งหมดไม่ใช่ใจ เพราะสิ่งที่ไม่มีน่ะมันไม่ทุกข์ไง เพราะที่ทุกข์ทั้งหมดคือ "สิ่งที่มี"
โยม : อ๋อ..หลวงตาจะพูดให้รู้ว่าความทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่ใจ แต่มันอยู่ที่จิตปรุงแต่ง
หลวงตา : ถูกต้อง... นี่คำพูดของพระพุทธเจ้าไม่ใช่คำพูดของหลวงตาหรอก เพราะสิ่งปรุงแต่งเท่านั้นจึงเป็นทุกข์ แต่ใจน่ะทุกข์ไม่ได้เพราะใจไม่มี
ความทุกข์เป็นอาการที่ถูกรู้ ความสุขก็เป็นอาการที่ถูกรู้ ความว่างก็เป็นอาการที่ถูกรู้ มันก็รู้ทั้งวัน แต่มีแต่อาการที่ถูกรู้ ใจไม่มี ก็มีความเป็นอยู่แบบคนไม่มีใจ อยู่แบบคนไร้ใจมันก็ไม่ทุกข์
เราไปยึดเอาอาการมาเป็นใจ พอทุกข์ โอ๊ย..ใจทำไมมันทุกข์แบบนี้ พอไม่สบาย โอ๊ย..ทำไมใจมันไม่สบาย
แต่พอสบายไม่คิดเพราะใจมันสบาย แต่ความจริงใจสบายไม่ใช่ใจ... เป็นอาการ
พระพุทธเจ้าตรัสกับพาหิยะ ทำไมถึงไม่ตรัสว่า เธอสักแต่ว่ารู้ทางใจแล้วเธอจะนิพพานเลยล่ะ ทำไมพระพุทธเจ้าต้องเกริ่นมาตั้งแต่เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น รู้รสสักแต่ว่ารู้รส รู้สัมผัสสักแต่ว่ารู้สัมผัส รู้ทางใจสักแต่ว่ารู้ทางใจ
***ทำไมต้องกล่าวถึงหกประตู ก็หกประตูมันเหมือนกัน คือ มันรู้แต่สิ่งที่ถูกรู้ มันจะรู้ "ตัวผู้รู้" ไม่ได้!!***
พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็นเปรียบเทียบว่า ทุกประตูมันต้องเหมือนกัน เพราะมันเป็นธรรมชาติเหมือนกัน ถ้าตาเห็นรูปแล้ว รู้ว่ามีตาไปรู้รูปแทนที่จะเห็นรูปอย่างเดียว แสดงว่าตาที่รู้รูปอยู่นั่นน่ะเป็นรูปที่ถูกตาเห็นนะ!! แสดงว่าเราเอาตาไปส่องกระจก
ท่านจึงต้องเปรียบเทียบ ประตูใจ กับ ประตูอีกห้าประตู พระพุทธเจ้าจึงต้องตรัสทั้งหกประตู
ถ้าเรารู้ว่าใจมันเห็นใจไม่ได้มันจะย้อนมารู้ใจไม่ได้ ถ้ามันย้อนมารู้ใจเมื่อไหร่ใจที่ถูกรู้ไม่ใช่ใจ ให้เห็นว่ามีแต่อาการแต่ใจไม่มี ใจไม่มี... มันเลยไม่มีคนทุกข์ อาการน่ะมันทุกข์ มันสุข หรือว่าเฉย ๆ นิ่ง ๆ ว่าง ๆ แต่ใจน่ะมันไม่มีอาการ....เพราะมันไม่มีใจ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากไฟล์เสียง
200709B ไม่มีใจ
9 กรกฎาคม 2563
ฟังจากยูทูป
https://youtu.be/zc35U0jYQwE
~~~~~~~~~~~~~~~