หลวงตา : "จิต" มันเหมือนกรรมกร เราเหมือนเจ้านาย เจ้านายเนี่ยไม่ได้หมายถึง "ตัวเรา" หมายถึงว่าสติปัญญา
สติปัญญามันไม่ได้เจตนาที่จะไป แต่จิตมันเป็นลูกน้องกรรมกร จิตมีเจตนาไปมีกิเลสกับอะไร แต่เจ้านายมันไม่ได้ไปสมรู้ร่วมคิดกับจิตที่มันเป็นกรรมกร มันก็ไม่มีความผิด ไม่มีความผิดทั้งทางโลก ไม่มีความผิดทั้งทางธรรม ไม่ต้องไปรับกรรม คือ ไม่ต้องไปเป็น "อะวิชชาปัจจะยาสังขารา"
"อะวิชชาปัจจะยา สังขารา, สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง" คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารกรรม สังขารกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณกรรม
ก็ไม่ต้องมีคนไปรับกรรม
ปัญหาที่เราปฏิบัติกัน เราเข้าใจว่า "จิต" กับเรา (สติ ปัญญา) เป็นตัวเดียวกัน ความจริงจิตน่ะ ที่หลวงตาพูดว่าให้จิตมันเป็น "พุทโธ" ๆ ๆ เนี่ย เจ้านายมันคือ "สติ"
เจ้านายมันก็สั่งให้จิตพุทโธ แต่จิตมันไม่พุทโธแล้ว เจ้านายมันไม่อยู่ จิตมันก็ไม่พุทโธ มันก็หนีไปเที่ยว "สติ" มันต้องเป็นเจ้านาย มันต้องอยู่
จิตมันมีเจตนาไปมีกิเลสกับอะไร แต่เจ้านายสติ มันรู้อยู่ว่ามันไม่ได้ไปตามจิต มันไม่ไปสมรู้ร่วมคิดกับจิต มันก็ไม่ต้องรับกรรม
คนที่รับกรรมถูกจำคุกถูกลงโทษประหารชีวิต มันก็คือจิตอย่างเดียว จิตมันต้องไปรับกรรม คือมันต้องไปเวียนว่ายตายเกิดรับกรรม
แต่ถ้าเจ้านายมันไม่ไปสมรู้ร่วมคิด เจ้านายไม่ไปกับจิต พอตายแล้ว กายกับจิตดับ แต่เจ้านายไม่ดับ เจ้านายมัน "รู้แก่ใจ" ว่ามันบริสุทธิ์ มันมีความเป็นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ตลอด
ทีนี้พอเราเข้าใจว่า จิตกับเจ้านายเป็นตัวเดียวกัน จิตกับเราเป็นตัวเดียวกัน เราก็คอยไปห้ามจิต ไปช่วยจิต หลงไปกับจิต วุ่นวายไปกับจิต มันก็เลยกลายเป็นไปสมรู้ร่วมคิดกับจิต ทำอะไรก็เลยสมรู้ร่วมคิดกับจิตตลอด
ในเมื่อสมรู้ร่วมคิดกับจิตตลอด "สติ" กับ "ปัญญา" โดนไปด้วยเลย ถือว่าเป็นผู้ไม่มีสติปัญญา ... มีเจตนา
พอมีเจตนาสมรู้ร่วมคิดด้วย ก็ต้องรับกรรม
ตอนนี้ก็คือ...
"อะวิชชาปัจจะยา สังขารา, สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง" คือ เพราะ "อวิชชา" ความสมรู้ร่วมคิด ความไม่รู้นี่เป็นอวิชชา มีกิเลสก็เลยสมรู้ร่วมคิดด้วย ตอนนี้ก็เลยต้องไปรับกรรมกับจิต
โยม : งั้นเราก็ต้องเพียรมีสติปัญญาควบคู่ไป
หลวงตา : สติปัญญามันต้องรู้ว่าเราบริสุทธิ์นะ ไม่ใช่ว่ามีเจตนากับอะไร จิตมันจะไปอะไรมันเป็นเรื่องของจิต มันต้องรู้เท่าทันตลอด
เพราะเรายังไม่ตาย จิตกับสติมันเป็นลูกน้องกับเจ้านายกัน ถ้าสติไม่รู้เท่าทันจิต เราไปสมรู้ร่วมคิดกับมันเลยจริง ๆ เราต้องรับโทษรับกรรม ถ้าไม่มี "เจตนาสมรู้ร่วมคิด" เป็นผู้มีสติปัญญาอยู่ ไม่มีเจตนาสมรู้ร่วมคิดกับจิตมันต้องรู้เท่าทันจิต
จิตมันไปทำอะไร จิตมันไปโน่นไปนี่ มันอยากไปมีอะไรกับใคร ไปโกรธ ไปเกลียด ไปรักไปชัง แต่เราไม่ได้อยากโกรธ เราไม่ใช่ไปอยากโกรธเมื่อไหร่ เราไม่ใช่ไปอยากมีกามราคะอะไร เราไม่อยากไปคิดถึงใคร เราไม่ได้ไปอยากชังใคร จิตมันไปของมันเอง เราไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกับมัน
ความที่ "รู้แก่ใจ" ว่าบริสุทธิ์ คือไม่ไปสมรู้ร่วมคิดกับจิต ก็เลยเรียกว่าบริสุทธิ์ ที่เรารู้ตัวเราว่าเราบริสุทธิ์ คือไม่ได้เจตนาไปร่วมกระทำผิดกับจิต ไปกระทำผิดกับใคร
"ความรู้" ที่รู้ว่าบริสุทธิ์ ความรู้ที่บริสุทธิ์นี่เป็นอมตะ เป็น "นิพพานธาตุ" ความรู้อันนี้ ไม่ใช่ว่าไปรู้ทางอายตนะคาเอ๋อ ๆ ไว้อะไรนะ หรือว่ารู้ว่าง ๆ รู้เฉย ๆ มันไม่ใช่
ความรู้ที่รู้ว่าบริสุทธิ์เนี่ย เหมือนกับว่า เราถูกตัดสินประหารชีวิต โดนถูกตัดสินประหารชีวิต ตัวขันธ์ห้าตายแล้วนะ แต่ความรู้แก่ใจว่าบริสุทธิ์ มันไม่ตาย
ความที่รู้อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันนี้เป็นอมตะ ไม่ตายตามขันธ์ห้า และก็ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์
แล้วก็จะเป็น "ความรู้ที่บริสุทธิ์" รู้ว่าบริสุทธิ์อย่างเป็นอมตะ
ที่ท่านบอกว่าพระอริยเจ้าทั้งหลาย พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านก็อยู่กับรู้นี้แหละ
ใจรู้ว่าใจบริสุทธิ์
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากสนทนาธรรมกับคณะศิษย์
ณ พุทธธรรมสถานปัญจคีรี
วันที่ 24 มกราคม 2563
~~~~~~~~~~~~~~~