โยม : กราบนมัสการหลวงตา
ที่สนามบินโยมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับคุณ ... ค่ะ
โยมได้ข้อธรรม โดยเล่าเรื่องที่หลวงตาสอนคุณ ... สมัยบวชเป็นพระ ในเรื่องดังนี้ค่ะ
1. การพิจารณา ดิน น้ำ ลม ไฟ และอนิจจัง จากมือที่ใส่บาตร ช่วงบิณฑบาต
- ข้อธรรมนี้ทำให้รู้ ... โยมยังไม่ได้พิจารณาทุกขณะปัจจุบัน และการพิจารณาสามารถเริ่มต้นตั้งแต่เล็ก ๆ ที่ปกติเราไม่สังเกต หรือมองเห็นเป็นธรรมในชีวิตประจำวัน
2. ปฏิโลก และปฏิโลม เรียนรู้แล้วต้องสัมผัสของจริง หรือผ่านแบบฝึกหัด
- ข้อธรรมที่ได้ คือ ฝึกหัดโดยสัมผัสกับสภาวะจริง จึงจะทราบผล ผ่านหรือไม่
เช่น การพิจารณากาย เน่า เปื่อย ผุ พัง จนจำได้แล้ว จึงเข้าป่าช้า แล้วสังเกตใจ หรือ เมื่อพิจารณากายเราแล้วผ่านต้องพิจารณาความผูกพัน และเยื่อใยต่อญาติพี่น้อง โดยพิจารณาถ้าหลานตาย เกิดอะไรขึ้นกับใจ
ช็อตนี้สะเทือนใจโยม ทำให้รู้ว่ายังไม่ขาดจากเรื่องนี้ จากที่เคยเข้าใจว่าหลุดยึดมั่นตนเองแล้ว จะหลุดยึดบุคคลอื่นด้วย แต่ในวินาทีที่ฟัง เอ๊ะ ... ทุกข์จังเนาะ
คุณ ... บอกว่านั่นแหละ แสดงว่าทุกข์ เกิดภพน้อย ภพใหญ่
เห็นตนเองสำนึกค่ะ "เกิดอีกแล้วเนาะ" ก้มหน้าก้มตา เพียรพิจารณาต่อไป
3. เรื่องเล่าหลวงปูมั่น สอนธรรมพระอาจารย์ของหลวงปูมั่นผ่านญาณ (จำชื่อพระอาจารย์ไม่ได้ คุณ ... กล่าว แต่จำไม่ได้ค่ะ)
พระอาจารย์มั่นสอนโดยตรวจการพิจารณาธรรมของพระอาจารย์แล้วพบว่า พระอาจารย์ติดเรื่องวิญญาณในกระบวนการของปฏิจจสมุปบาท
หลวงปูมั่นได้โปรดพระอาจารย์หลวงปู่ โดยได้สนทนากับสภาวะที่หยั่งรู้ในญาณ ทำให้พระอาจารย์ท่านหลุดจากการสงสัยในวิญญาณ โดยการอธิบายสาเหตุที่เกิดภพจากการยึดในวิญญาณ ทำให้มีรูป ซึ่งจะเกิดในภพใดอยู่ที่สะสมในชีวิตประจำวัน
กราบ กราบ กราบ
~~~~~~~~~~~~~~
หลวงตา : สาธุ
ให้มีความเพียรพิจารณาทั้งสิ่งที่พบเห็น ความสกปรกของร่างกาย (อสุภกรรมฐาน) ความตาย (มรณานุสสติ) เน่าเปื่อยผุพังสลายกลับคืนสู่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟจนหมดสิ้น ซึ่งแสดงสัจธรรมความจริงในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนติดตา ติดใจ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย (อุคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต)
โดยพิจารณาให้เห็นสัจธรรมความจริงดังกล่าว
ภายนอก จากสิ่งที่พบเห็นได้ยินสัมผัส เทียบเคียงกับภายใน (ร่างกาย จิตใจเรา) และ ภายในเทียบเคียงกับภายนอกอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
แม้ในการทำการงาน หรือ กิจส่วนตัว ก็ให้น้อมเป็น อุคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
ให้รู้สึกสลดสังเวชตัวเองที่หลงเวียนเกิดตาย เป็นทุกข์ เพราะความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก โดยเฉพาะรักตัวเรามาก มาหลายชาติจนนับไม่ถ้วน เกิดความปลง ปล่อยวาง สิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นไปทีละน้อย ๆ ๆ ๆ ....... อย่างต่อเนื่องจนหมดสิ้น
ไม่ใช่มโนเอา และพิจารณาขาดกระท่อนกระแท่น จะเสียเวลาแล้วตายเสียก่อน ไม่ทันที่จะปลง ปล่อยวาง
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
13 มกราคม 2563