จากโอวาทธรรม องค์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
"การรู้โดยไม่คิดเอง คือ การเดินวิปัสสนาที่ละเอียดที่สุด
ตราบใดที่ยังเห็นว่า...จิต คือตัวเรา เป็นของ ๆ เรา ที่ต้องช่วยให้จิตหลุดพ้น ตราบนั้น "ตัณหา" หรือ สมุทัยก็จะสร้างภพของจิตว่างขึ้นมาร่ำไป
ขอย้ำว่า ขั้นนี้จิตจะดำเนินวิปัสสนาเอง ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติจงใจกระทำ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ไม่มีใครเลยที่จงใจ หรือ ตั้งใจบรรลุมรรคผลนิพพานได้
มีแต่จิตเค้าปฏิบัติตนเองไปเท่านั้น
เมื่อ...จิตทรงตัวรู้ แต่ไม่คิดอะไรนั้น บางครั้งจะมีบางสิ่งผุดขึ้นมาสู่ภูมิรู้ของจิต แต่จิตไม่สำคัญมั่นหมายว่ามันคือ อะไร เพียงแค่รู้เฉย ๆ ถึงความเกิด - ดับนั้น เท่านั้น
ในขั้นนี้เป็นการเดินวิปัสสนาขั้นละเอียดที่สุด ถึงจุดหนึ่ง จิตจะก้าวกระโดดต่อไปเอง
การเข้าสู่มรรคผลนั้น "รู้" มีตลอด แต่ไม่คิด และ ไม่สำคัญมั่นหมายในสังขารละเอียดที่ผุดขึ้นมานั้น
เมื่อจิตถอยออกจากอริยะมรรค และอริยะผลที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติจะรู้ชัดว่า ธรรมเป็นอย่างนี้
"สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไป"
ธรรมชาติบางอย่าง มีอยู่ แต่ก็ไม่มีความเป็นตัวตน สักอณูเดียว
นี้เป็นการรู้ธรรมในขั้นพระโสดาบัน คือ ไม่เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งแม้แต่ตัวจิตเองเป็นตัวเรา แต่ความยึดถือในความเป็นเรายังมีอยู่
เพราะ...ขั้นความเห็น กับ ความยึดนั้นมันคนละขั้นกัน"
หลวงปูดูลย์ อตุโล
ที่มาโอวาทธรรม : FB หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2492384537688228&id=1898368500423171
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยมส่งการบ้านองค์หลวงตา หลังจากได้อ่านโอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์ องค์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 1 : กราบค่ะ หลวงตา เพิ่งกลับเข้ามาจากเดินจงกรมค่ะ
ข้อธรรมที่หลวงตาส่งมา ทำเอาหนูเอ่อล้นที่ใจเลยค่ะ (ล้นจริง ๆ ค่ะ) หนูเข้าใจเลยค่ะ
ดังนั้นในการพิจารณา “บางสิ่งผุดขึ้นมา สู่ภูมิรู้ของจิต” ก็จะมาเป็นธรรมชาติของเขาเองเลยนะคะ เราไม่ต้องยืนรอว่าเมื่อไหร่ฝนจะตกนะคะ เพราะถ้าฝนจะตก เดี๋ยวฝนก็ตกเองค่ะ แบบนี้น่ะค่ะ
หนูเข้าใจเลยค่ะว่าทำไมหลวงปู่ดูลย์ ถึงใช้คำว่า “พฤติแห่งจิต” และที่หลวงตาสอนไว้ตอนแรกที่พบหนูว่า
"สิ่งหนึ่ง สิ่งใด เกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา"
สิ่งต่าง ๆ สภาวะต่าง ๆ ไม่ว่า “หยาบ - ละเอียด” สิ่งที่เป็นคู่ บุญ - บาป กุศล - อกุศล และที่อธิบายไม่ได้ ว่าล้วนคือ “พฤติของจิต” และ ”สิ่งหนึ่ง สิ่งใด”
เพราะ “ทุกสิ่งอาจจะต่างกันที่สมมุติ แต่ในธรรมเสมอกัน” เลยพิจารณาแบบเดียวกันใช่ไหมคะ
กราบแบบเอ่อล้นเลยค่ะหลวงตาอีกรอบค่ะ
~~~~~~~~~~~~~~~
หลวงตา :
ผู้ใดรู้เห็นจากใจจริง ๆ ว่า “ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ” สิ่งหนึ่ง สิ่งใด (สังขาร) เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหมดนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา”
ก็จะเรียกว่ามี “ดวงตาเห็นธรรม” คือ พระโสดาบัน
*****แต่เพราะยังหลงยึดถือว่า เราเป็นผู้รู้ ผู้เห็น หรือ ผู้รู้ ผู้เห็นเป็นตัวเรา จึงมีตัวเราหลงยึดถือ “ผู้รู้” ว่าเป็นนิพพาน
เมื่อมีสติ ปัญญา รู้เท่าทันความหลงยึดถือ โดยรู้เห็นจากใจว่าความหลงยึดถือว่า เราเป็น ... หรือ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรานั้น เป็นเพียงสังขาร หรือ ความคิดปรุงแต่ง ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะสิ้นหลงยึดถือเอาสังขารที่คิดปรุงแต่งนั้น มาเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเราจริง ๆ จัง ๆ
คงมีแต่เพียง “รู้” สักแต่ว่า “รู้” ซึ่งเป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติ เป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุรู้บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์ ........ เพราะไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือทั้งสิ่งที่ถูกรู้ และผู้รู้ ผู้เห็น จึงไม่มีผู้ทุกข์ (นิพพาน)
“นิพพาน” ไม่ใช่สภาวะใด ที่มีตัวเราไปถึง ไปได้ ไปเป็น
แต่เป็นเพราะไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือทั้งสิ่งที่ถูกรู้ และ ผู้รู้
จึงไม่มีกิเลส ตัณหา และ ผู้ทุกข์ เรียกว่า “นิพพาน”
แต่ถ้ามีความเห็นผิด ว่า “นิพพาน” เป็นสภาวะใด ๆ เช่น เป็นความว่าง ความสว่าง ความสุข ความสงบ เงียบ สงัดเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
ก็จะมีตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา อยากเอา อยากได้ อยากเป็น อยากถึง อยากบรรลุนิพพาน คือ ถึงสภาวะที่คาดหมายไว้นั้น
เมื่อมีเรา หรือ ตัวเราหลงยึดถือ จึงเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ..... และความทุกข์ทั้งมวล
*****ดังนั้น นิพพาน คือ ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา เป็นผู้ยึดถือทั้งสังขาร ซึ่งเป็นสิ่งเกิดดับ และ วิสังขาร (ธรรมชาติไม่เกิดดับ) ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา เป็นผู้ยึดถือแม้ธรรม และ นิพพาน ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา เป็นผู้ยึดถือความไม่ยึดถือ
เมื่อไม่มีผู้ยึดถือ จึงไม่มีผู้ทุกข์ เรียกว่า “นิพพาน”
~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 2 : สาธุกับโยม... เจ้าค่ะ...
หลายครั้งที่ "เหตุแห่งธรรม" ถูกสร้างขึ้นโดย "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง" และถูกส่งต่อผ่านการทำงานของธาตุรู้อันบริสุทธิ์ ซึ่งเขาทำงานของเขาเอง แม้จะไม่มีใครรู้ก็ตาม นี่เป็นความลับที่เปิดเผยตัวเองอยู่ตลอดเวลา
พระธรรมที่ส่งต่อจากใจสู่ใจ ไม่ว่าจะ "ปรารภเหตุ" ใด ล้วนไหลไปสู่ความเป็น "เอโกธัมโม - เอกะธัมโม" หนึ่งเดียวที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่จำกัดกาล เป็นอมตสัจธรรมตลอดกาล... สิ่งนี้ซึมเข้าใจจนไม่ได้เรียกว่าเป็นความเข้าใจ ความถึงใจ หรือใด ๆ เลยเจ้าค่ะ
อย่างหนึ่งที่รับรู้แก่ใจเจ้าของมาโดยตลอด และค่อย ๆ ชัดเจนลึกซึ้งขึ้นทุกวัน ๆ จนยากจะหาคำพรรณาที่ใช้สังขารปรุงแต่งออกมาสื่อสารได้ แต่สิ่งนั้นก็อยู่ที่ "ใจที่รู้แก่ใจ" เจ้าค่ะว่า...
เมื่อใดที่ "ธรรมครองใจ" (ไม่อาจหาญกล้ายกธรรมเทียบกับสิ่งใด เราเป็นธรรม หรือธรรมเป็นเรา เพราะรู้แก่ใจว่า ธรรมทรงธรรมอย่างสมบูรณ์ ไม่อาจเอาสิ่งใดไปแปดเปื้อนได้) สังขารวิบากนี้จะขับเคลื่อนและเป็นไปโดยธรรม และสิ้นยึดในธรรมนั้นเอง
การให้อันบริสุทธิ์ ย่อมเป็นเหตุและผลอันบริสุทธิ์สิ้นสุดในตัวเอง แต่ด้วยความเป็นสมมุติของสังขารวิบากที่เป็นเครื่องมือถ่ายทอด ที่ต้องนำมาใช้งาน ความกระทบ ความสัมผัสสัมพันธ์ของขันธ์ต่อขันธ์ สมมุติต่อสมมุติ มันจึงจำต้องรับวิบากแห่งขันธ์จากการกระทบนั้น ไม่มากก็น้อย.. แต่สิ่งนี้ไม่เกี่ยวกับ "ใจ" เลยเจ้าค่ะ ทุกอย่างเป็น "อิสระ" ต่อกัน ทุกการให้ที่บริสุทธิ์ขาดจากใจอย่างแท้จริง
"ใจ" ที่ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่แม้ธุลีที่ค้างไว้ได้ ไม่ว่าดีชั่ว บุญบาป กุศลอกุศล หรือแม้แต่ความเป็นกลาง ยังคงเป็นใจที่ยังไม่เป็นอิสระ ยังคงเกาะเกี่ยวแม้เศษเสี้ยวปรมาณู
"จิตบริสุทธิ์" หลุดพ้นทุกสิ่ง... ไร้คำบรรยายเจ้าค่ะ
กราบ กราบ กราบ
~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 3 : หลวงตากล่าวเรื่อง นิพพาน ไว้ชัดเจนมากครับ
เหตุเพราะความเข้าใจธรรมะที่กลับหัวกลับหาง จึงทำให้หมายผิดและทำผิดเรื่อยไป มีตัวเราที่จะไปได้ มีตัวเราจะไปเป็น ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทางเป็นธรรม เพราะประกอบเหตุที่เป็นทางตรงข้ามกับพระนิพพาน
เมื่อเหตุไม่ถูกต้องกับธรรมแท้ ก็ได้ผลที่ไม่ใช่ธรรมแท้
ทำเหตุเช่นใด ก็ย่อมได้ผลเช่นนั้น หลวงตาจึงสอนเรื่อยมาว่าให้เห็น "ตัวเรา" ปล่อยวาง "ตัวเรา" ไม่ใช่เอาตัวเราไปได้ ไปมี ไปเป็น เพราะธรรมทั้งหลายทั้งมวล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา
กราบองค์หลวงตาอย่างสูงครับ
กราบ กราบ กราบ
~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 4 : เมื่อความเป็นตัวเราเป็นเพียงสังขารปรุงแต่ง ก็ย่อมไม่มีสิ่งใดจะเป็นของ ๆ เราได้เลย
น้อมกราบองค์หลวงตาอย่างสูงสุด
กราบ กราบ กราบ เจ้าค่ะ
~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 5 : กราบ กราบ กราบ
ธรรมยิ่งละเอียด กิเลสก็ละเอียดเจ้าค่ะ ถ้าสติ สมาธิ ปัญญารู้ไม่รอบ ก็จะไม่เห็นเป็นคนละส่วนเหมือนกับน้ำมัน แต่มันจะเห็นเป็นน้ำอย่างเดียวเจ้าค่ะ
~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 6 : กราบ กราบ กราบ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเคลื่อนไหวแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่งปรมณูหนึ่งไม่ใช่ "จิตเดิมแท้" เจ้าค่ะ "จิตเดิมแท้" ก็ไม่เคยแสดงอาการใด ๆ ไม่มีสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา ไปเป็นเจ้าของ "จิตเดิมแท้" ได้ มันเป็น "ปัตจัตตัง" จริง ๆ เจ้าค่ะ
~~~~~~~~~~~~~~~
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
12 มกราคม 2563