พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญาที่พาสู่ความพ้นทุกข์
ความทุกข์มีเหตุมาจาก “ความยึดถือ” ซึ่งมีรากฐานมาจาก “อวิชชา” หรือ ความหลงผิดว่ามีตัวตน จึงมีตัวเราเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้กระทำและเป็นผู้รับผล เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่หวัง จึงมีตัวเราเป็นผู้ทุกข์
แก่นคำสอนของพุทธศาสนา เป็นไปเพื่อให้สิ้นความหลงผิดที่คิดว่ามีตัวตน
โดยการเข้าใจความจริงนั้น เกิดจากการอ่าน ฟัง พิจารณา และเห็นตามความเป็นจริงด้วยใจว่า “ตัวตนของเราไม่มีอยู่จริง” ซึ่งนำไปสู่ “การปล่อยวาง” ความยึดถือตัวตน
เมื่อสิ้นตัวตน จึงไม่มีผู้ซึ่งยึดถือทั้งความสุข และความทุกข์ เรียกว่าพ้นทุกข์
ทั้งหมดนี้คือการภาวนา
การภาวนาเริ่มต้นอย่างไร?
“ขั้นตอนเบสิก (พื้นฐาน) ก็คือว่า เวลาเราเหม่อ เหม่อมองอะไรไป เหม่อเผลอเพลินคิดปรุงแต่งอะไรไป เพลินใจติดไปกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็น “นันทิ” เราก็ต้องมีสติรู้สึกตัวขึ้นมา เหม่อเพลินใจไปกับความคิดอารมณ์ เราก็มีสติสัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้สึกตัวขึ้นมา อันนี้เป็นเพียงแค่สติ สมาธิ ปัญญาในขันธ์ห้า เราก็ฝึกอย่างนี้ให้ชำนาญ ต่อไปอย่าปล่อยให้มันเหม่ออีก อย่าปล่อยให้มันเผลอเพลิน ให้มีสติรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน ทุกขณะปัจจุบันให้มีสติรู้ตัวอยู่ เมื่อมีสติแล้วจะเห็นกิริยาอาการของขันธ์ห้าเขาทำงาน”
เมื่อมีสติรู้ตัว จะเห็นหรือรู้การทำงานของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นการรับรู้ตามปกติธรรมชาติ
“พอท่านไม่เหม่อแล้ว ท่านนั่งอยู่ท่านรู้ว่าท่านนั่งไหม... รู้... เวลาท่านเป็นฝ่ายพูดท่านรู้ไหม.... รู้... พูดอะไรท่านรู้ไหม... รู้... เห็นไหม เวลาท่านนั่งอยู่ก็รู้ ยืนอยู่ก็รู้ นอนอยู่ก็รู้ กินอยู่ก็รู้ เข้าห้องน้ำทำอะไรก็รู้ อันนี้คือขันธ์ห้า เขาทำงานทั้งหมด ทั้งร่างกาย อันนี้ท่านรู้หมด เวลาขันธ์ห้าเขาพูด พูดดี พูดชั่ว พูดบุญ พูดบาป พูดกุศล อกุศลอะไร พูดรักพูดชัง พูดอะไรต่าง ๆ เนี่ย รู้ไหม... รู้... เห็นไหม กายทำอะไรก็รู้ พูดก็รู้
ทีนี้จิต มันคิด มีความคิด เวลาท่านไม่เหม่อเผลอเพลิน เรียกว่า สติไม่ขาด เวลามันคิดดี คิดชั่ว คิดบุญ คิดบาป คิดกุศล คิดอกุศล รู้ไหม... รู้... นี่เห็นไหม คือเหลือระหว่างขันธ์ห้า กับรู้แล้ว อ่ะทีนี้เหลือระหว่าง “ขันธ์ห้า” กับ “รู้”
“รู้ขันธ์ห้า”
“มันก็มี 3 อย่างเท่านี้ในร่างกายของเรา ก็คือ การคิด การพูด การกระทำ คิดดี คิดชั่ว คิด บุญบาป คิดกุศล อกุศล มันก็ต้องพูดดี พูดชั่ว พูดบาป พูดบุญ พูดกุศล อกุศล มันก็พูดไปตามความคิด กายมันก็หันซ้ายหันขวา ไปตามความคิด เพราะฉะนั้น ตัวที่กำหนดมันก็คือ “ความคิด” คือตัวที่สั่งการน่ะตัวที่สั่งการให้ปากพูดว่าอะไร สั่งการให้กายทำงานว่าอะไรก็คือความคิด
สุดท้ายนี้มันก็ต้องรู้เข้ามาถึงความคิดนี้แหละ เพราะว่าความคิดเป็นตัวสั่งการ ให้เราพูด ให้เรากระทำ เรามัวแต่ไปดูกายมัน มันหันซ้ายหันขวา มันยังหยาบไป พอมาถึงเราพูดอะไรมันก็ยังหยาบไป ต้องมาถึงนี้เลยความคิดนี่ จิตที่มันคิดนี่มันคิดบงการให้เราพูดว่าอะไร ทำอะไร เช่นจิตมันคิดอะไร ทีนี้เราก็เริ่มมาดูถึงจิตแล้ว”
การฝึกมีสติรู้สึกตัวนั้น คือ ต้องฝึกให้รู้ความคิด อาจอาศัยเครื่องล่อจิต เช่น คำบริกรรมพุทโธ หรือสิ่งอื่น แล้วแต่ความชอบ ความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้เห็นจิตคิดก็ได้
“ให้มีความรู้สึกตัวอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ สังเกตตัวเราผู้พุทโธว่า ความรู้สึกตัวนี่มันอยู่กับพุทโธไหม ฟังให้ดีตรงนี้นะสำคัญมากนะ อันนี้เป็นเคล็ดลับเลย ให้ความรู้สึกตัวเนี่ยมันอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ อย่าไปไล่ตะครุบจิต อย่าไปบีบบังคับจิตไม่ให้มันไปไหน มันไปไหนมันก็กลับมาเอง มันจะคิดอะไรมันจะปรุงแต่งไปยังไงช่างมัน อย่าพยายามไปดับมัน และอย่าหลงไปกับมัน หลงไปกับมันคือความรู้สึกตัวที่อยู่กับคำบริกรรมพุทโธขาดนะ
อย่าทำผิดอย่าเข้าใจผิดนะ เอาพุทโธไปฆ่าความคิด ฆ่าอะไรหมดเลย ให้มันไม่คิดเลย ให้มันนิ่งเฉยอย่างเดียว ไม่ใช่นะ ต้องการความรู้สึกตัว สติสัมปชัญญะ ไม่ต้องการให้จิตนิ่งจิตเฉย มันจะนิ่งหรือไม่นิ่งมันจะสงบหรือไม่สงบช่างมัน มันจะฟุ้งซ่านก็ช่างมัน ขออย่างเดียวอย่าให้ความรู้สึกตัวมันหายไปจากคำบริกรรมพุทโธ แค่นั้นแหละ ”
เมื่อสติมีความตั้งมั่นอยู่กับคำบริกรรมพุทโธแล้ว ให้สังเกตความคิดที่เกิดขึ้น
“ดูให้ดีนะว่า ตัวเราผู้พุทโธนี้ มันคิดพุทโธอย่างเดียวหรือมันไปคิดอะไร เราตั้งใจคิดพุทโธหนึ่งเดียว แต่มันสารพัดจะคิด มันคิดอย่างอื่นแทรกเข้ามา อันนั้นแหละเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เราบังคับมันไม่ได้ เราก็เห็นอยู่อย่างนี้ ถ้าเราไม่สังเกตไว้จากการเปรียบเทียบกับพุทโธ ๆ ไว้ เราก็จะไม่รู้จะเอาตัวเราหลงไปคิด ต่อไปพอเราเห็นชัด ๆ เรารู้ชัดชัด ๆ จากใจของเรา เราก็ไม่ต้องอาศัยพุทโธเป็นที่พึ่ง”
การทำงานของขันธ์ห้า
ในการทำงานตามปกติของ ร่างกายจิตใจหรือขันธ์ห้านี้ เมื่อมีการกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตหรือวิญญาณขันธ์ ทำหน้าที่เป็น “ผู้รู้” รับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก แล้วทำงานร่วมกับเวทนา สัญญา สังขาร คือเมื่อรับรู้แล้ว จะเกิดเวทนาความรู้สึกถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือไม่ถึงกับถูกใจไม่ถูกใจ และเกิดสัญญาความจำได้หมายรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และเกิดสังขารความคิดปรุงแต่งขึ้น
ตัวอย่างการทำงานตามปกติของขันธ์ห้า เช่น เมื่อตาเห็นรูป เกิดความรู้สึกหรือเวทนา เกิดความจำได้หมายรู้หรือสัญญา เกิดความคิดปรุงแต่งหรือสังขาร สิ่งเหล่านี้ถูกรับรู้โดย “วิญญาณขันธ์” หรือ “ผู้รู้” หรือ “จิต”
“ทีนี้พอเรามาเห็นไม่ว่าตาจะเห็นอะไร หูได้ยินเสียงอะไร จมูกได้กลิ่นอะไร ลิ้นลิ้มรสอะไร กายสัมผัสอะไร มันก็มารู้ที่จิตว่ามันคิดอะไร มันมารู้แต่จิตที่มันคิดอะไร จิตที่มันคิดอะไรทุกขณะปัจจุบัน พอมีอารมณ์อะไรสบายใจ ไม่สบายใจ มันไม่ไปสนใจอารมณ์ที่สบายใจ ไม่สบายใจ มันรู้ว่าจิตคิดอะไร ที่นี้มันเข้ามาหาเป็นผู้ปฏิบัติที่ละเอียดเข้ามาละ ก็คือจิตที่คิดละ”
วิธีฝึกให้เห็นจิตผู้รู้ที่คิดปรุงแต่ง ในขั้นเบื้องต้น ทำอย่างไร
“เราก็สำรวมไว้ทั้ง 5 ประตู ตา หู จมูก ลิ้น กาย 5 ประตูนี้ ประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูกาย 5 ประตูสำรวมไว้ เราก็อย่าให้มี “นันทิ” อย่าเอาอะไรมาดู มาฟัง อย่ามาเล่น แล้วก็เปิดที่ประตูใจประตูเดียว แล้วก็ดูที่ประตูใจอยู่เงียบ ๆ ไม่ใช่ว่า ไปทำให้นิ่ง ๆ นะ รู้อยู่เงียบ ๆ หมายถึงว่า รู้เขาตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงที่ประตูใจ พอมีความคิดความรู้สึกปรุงแต่งอย่างไร ก็รู้เขาตรงไปตรงมาอย่างที่เขาเป็น รู้เขา รู้อะไรแล้วเอามาวิพากษ์ วิจารณ์ วิจัย วิเคราะห์ มีแสดงกิริยาอาการยังไงปล่อยให้เขาแสดงกิริยาอาการไป ตามความเป็นจริง อย่าเข้าไปแทรกแซง อย่าเข้าไปกดข่ม บังคับ อย่าเผลอเพลินติดไปกับเขา แค่รับรู้เขาซื่อ ๆ ตามความเป็นจริง สักแต่ว่ารู้ “สักแต่ว่ารู้ที่ประตูใจ” อยู่เงียบ ๆ”
“สักแต่ว่ารู้”
“อย่าหลงเอาตัวเราไปคิดปรุงแต่ง ให้เป็นรู้ “รู้” กับ “คิด” มันเป็นคนละตัว ไม่ใช่ตัวเดียวกัน ให้เป็น “รู้” รู้อยู่เผลอแป๊บเดียวก็คิดละ เอาใหม่เอาใหม่ เดี๋ยวก็รู้อยู่เผลอแป๊บเดียวไปคิดอีกละ แล้วก็เอาใหม่ รู้ตัวใหม่ พอจะเป็นรู้สักหน่อยคิดอีกแล้ว ทำไม “เป็นคิด” อยู่เรื่อย ๆ ไม่ “เป็นรู้” ซักที ปฏิบัติใหม่ ๆ ก็มั่วน่าดูแบบนี้ทุกคน เดี๋ยวก็พยายามจะแยก “คิด” ออกจาก “รู้” แยก “รู้” ออกจาก “คิด” ให้ได้ แยกไปแยกมา ๆ อ้าวกลายเป็น “คิด” ทั้งนั้นนี่หว่า ไอ้ที่พยายามแยกนี่มันก็เป็นคิดไม่ใช่เหรอ ยิ่งพยายามจะ ไปหา “รู้” ยิ่ง “คิด” ใหญ่เลยทีนี้ แบบนี้ ก็จะหลงแบบนี้ นี่คือธรรมดา คือทางเดิน”
ในการฝึกนั้น บางครั้งก็หลงไปเพ่งอารมณ์จนไม่เห็นความคิด
“ที่นี่ก็เพ่งเอาสิ พอมันไม่รู้สักที ก็เพ่งเอา เพ่ง ๆ ๆ เข้าไปในตัวเรา พอเพ่งไม่เห็นอะไรเลย เห็นจิตนิ่งเฉย ไม่คิดอะไรเวลาเพ่งเข้า แต่ความคิดความปรุงแต่งมันมาอยู่ที่ตัวเพ่ง ไม่เห็น ตัวที่ไปเพ่งนี้ มันพูดเอา... พูดเอา แต่อาการที่รู้เห็นมันเฉย แต่ไอ้นี่มันไอ้ตัวที่ไปรู้นี่มันเพ่งมันพูด คราวนี้ทำไมเฉย ดีจังเลย มันเฉย มันสงัดมากเลย มันสงบมากเลย โอ้โห... มันไม่คิดอะไรเลยนะ แต่ไอ้คนที่เข้าไปเพ่ง ไม่รู้มันสารพัดจะพูด ความจริงหลงไปแล้ว หลงสะเด็ดแล้ว ไม่ว่าจะไปรับรู้อะไรแม้แต่รู้เฉย รู้นิ่ง รู้ว่าง มันก็ต้องเข้ามาสังเกตตรงไอ้ตัวเราผู้ไปรู้นี่แหละว่า มันจะเพ่ง มันจะพูด มันจะพยายาม ๆ ๆ ดิ้นรนค้นหาอะไร แล้วมันก็จะปรุงแต่ง ทั้งชอบทั้งชัง ปนอยู่ในนี้แหละ”
“อุบายเข้าหาผู้รู้”
อุบายเข้าหาผู้รู้ เป็นวิธีที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์สอนเพื่อให้เห็นจิตผู้รู้ ก็คือ เข้ามาเห็นตัวเราที่เป็นผู้รู้และผู้คิดนั่นเอง
“นี่นะ วิธีนะถ้าใหม่ ๆ ยังไม่ชินน่ะ เวลาพอมันมีอาการสบาย ไม่สบายอะไรนี่ ใจสบาย ใจไม่สบาย เบา ๆ ซอฟต์ ๆ (soft) อะไรก็ตามนี่ คอยถามใจตัวเองว่าคนในห้องนี้ คนในโลกนี้รู้มั้ยว่าตอนนี้ใจเราสบาย? เบาสบายมากเลย คนในโลกนี้รู้มั้ยใจเราไม่สบาย? แน่น ๆ อึดอัด ทึบแน่นไปหมด มึน ๆ งง ๆ ง่วง ๆ ซึม ๆ คนในโลกนี้รู้มั้ย? ก็ได้รับคำตอบว่าไม่รู้ แต่มีอยู่หนึ่งคนรู้เสมอคือใคร? เรานี้... “ตัวเรา” นี้ล่ะเป็นคนรู้ ๆ ๆ ก็เห็นตรงที่ “ตัวเราเป็นคนรู้” อย่าไปสนใจอารมณ์ที่ถูกรู้ สนใจตัวเราผู้รู้เรื่อยไป สังเกตตัวเราผู้รู้ ละตัวเราผู้รู้ ปล่อยวางตัวเราผู้รู้เรื่อยไป”
ลองสังเกตการรับรู้ของตัวเอง
“ถามว่าใครเป็นคนรู้รูป? รู้เสียงใครเป็นคนรู้? รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส ใครเป็นคนรู้? ใจสบาย ไม่สบายซึ่งเป็นเวทนา ใครรู้? จิตคิดดี คิดชั่ว คิดบุญ คิดบาป คิดกุศล อกุศล ใครเป็นคนรู้? เราเป็นคนรู้ ถามอะไรก็เราเป็นคนรู้ เพราะอะไร? เรายึดเอาขันธ์ห้า วิญญาณขันธ์ที่ทำหน้าที่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา หรือเป็นของของเรา
ขันธ์ห้าก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พอวิญญาณในขันธ์ที่ห้าเข้าไปรับรู้อะไร เวทนา สัญญา สังขารอีกสามขันธ์ ต้องทำงานร่วมกับวิญญาณขันธ์ตลอดเวลา แล้วก็ เกิดพร้อมวิญญาณขันธ์ ดับพร้อมวิญญาณขันธ์ เพราะว่าผู้รู้วิญญาณขันธ์นี้เกิดดับเร็วมาก ของเก่าดับไป ของใหม่เกิดขึ้น ของเก่าดับไป ของใหม่เกิดขึ้น เร็วมากเลยปานปรมาณู มันจึงไม่มีอะไรตั้งอยู่คงที่ แต่จะเร็วขนาดไหน ถ้าเรารู้ตรงผู้รู้นี้ให้ได้ แล้ว “สักแต่ว่ารู้...ผู้รู้” นี้ มันก็จะปล่อยวางขันธ์ทั้งห้าได้หมด เรียกว่าสิ้นอุปาทานขันธ์ห้า”
เหตุที่ต้องเข้าหาผู้รู้... พบผู้รู้ ปล่อยวางผู้รู้
“นี่เหตุใดเล่า มันจึงต้อง “รู้... ผู้รู้” ให้ได้ ถ้า “รู้... ผู้รู้” นี้เรียกว่าปล่อยวางขันธ์ห้าทั้งห้าขันธ์ได้ครบ แต่ถ้าไม่พบผู้รู้นี้มันปล่อยวางไม่ถึงห้าขันธ์ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีใครไม่ผ่านทางนี้ คือสิ้นอุปาทานขันธ์ห้า พบผู้รู้ ปล่อยวางผู้รู้นี้”
เมื่อพบผู้รู้ และ เข้าใจความจริงของผู้รู้ คือ เห็นว่ามันเป็นสังขาร เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ มีความเกิดดับ เปลี่ยนแปลงไปเอง จึงไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่ ตัวเรา หรือของเรา นั่นคือการปล่อยวาง โดยไม่ต้องมีการกระทำใด ๆ จึงเป็นเพียง “สักแต่ว่ารู้”
“ รู้... ปล่อยให้ขันธ์ห้ามันทำงาน แล้วไม่มีใครไปยึดมั่นถือมั่นขันธ์ห้า ปล่อยให้ขันธ์ห้า ร่างกายจิตใจการคิด การพูด การกระทำ แล้วก็ปล่อยให้ประตูใจ มันทำงานของมันอย่างอิสระเสรี ไม่มีใครต้องเข้าไปดูมันหรอก ถ้าเราไม่เหม่อเผลอเพลินติดไปกับอะไร มันเป็นธรรมชาติที่จะรู้เองแหละว่าขันธ์ห้าเนี่ย เค้าเกิดขึ้นเองและดับเอง เราต้องไร้เจตนา ไร้จงใจ ไร้ความตั้งใจ ที่จะไปดู ไปรู้ ไปเห็น คิดดิ้นรนค้นหา พยายาม จะต้องไม่มีกิริยาอาการของจิตจากฝ่ายเราที่เข้าไป ไม่งั้นอวิชชาไม่สิ้น เพราะว่าถ้ามีความจงใจตั้งใจเจตนา มีความพยายามจากฝ่ายเรา จะมีตัวเราเป็นอวิชชา เป็นผู้กระทำ”
อวิชชา คือ ความหลงผิดว่ามีตัวตน ตัวเรา ของเรา
ความยึดถือตัวเรา เป็นเหตุให้ไม่พ้นทุกข์
“เราไปยึดจิตเป็นเรา เราเป็นจิต จิตเป็นอย่างไรเราเป็นอย่างนั้น จิตเศร้าหมอง เราเศร้าหมอง จิตเป็นทุกข์ เราเป็นทุกข์ จิตผ่องใส เราผ่องใส จิตเป็นของไม่เที่ยง เพราะอาการของจิตเปลี่ยนแปลงตลอด จิตไม่ผูกเรา แต่เราไปผูกจิต จิตมันเป็นอนัตตา อย่าไปยึดเขาปล่อยวาง เป็นอนัตตายึดไม่ได้ สิ้นยึดนั่นแหละจึงพ้นทุกข์
พระพุทธเจ้าตรัสกับพระสาวกว่า ควรหรือที่เธอจะไปยึดสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เล่า เป็นทุกข์พระเจ้าค่ะ แล้วมันยึดถือได้หรือไม่ มันยึดถือไม่ได้พระเจ้าค่ะ สิ่งใดที่ไม่อาจยึดถือได้ มันเป็นอัตตาหรืออนัตตา มันเป็นอนัตตาพระเจ้าค่ะ แล้วเธอควรหรือที่เธอจะยึดถือเขาน่ะ ไม่ควรเลยพระเจ้าค่ะ เลยปล่อยวางทั้งกายและจิต นิพพานหมดเลย ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า”
“ดังนั้น ไปรู้อะไรแล้ว ก็คือตัวเราไปรู้ ตัวเราเป็นคนยึด ถ้าเราปล่อยวางตัวเราได้ สิ้นตัวเรา พ้นตัวเราผู้ที่ไปรู้ไปยึด มันก็จะสิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็จะสิ้นภพ สิ้นชาติ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด โดยถาวรสิ้นเชิง มันก็จะพ้นทุกข์ นิพพานไป”
โอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์ องค์หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
มีคำถามว่า การข้ามหลงจะข้ามด้วยวิธีไหนได้หนอ
ตอบย่อ ๆ พอฟังได้ง่าย ๆ ว่า....
ข้าม “ผู้รู้” รู้ได้โดยมิได้ยึดถือว่า “ผู้รู้” เป็นเรา เขา สัตว์ บุคคล ตัวตนในขณะจิตใด ๆ เลย แล้วได้เรียกว่าเราข้ามความหลงได้โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากวีดีโอ... “หลวงตาสอนอะไร 2 (ทาน ศีล ภาวนา)”
https://youtu.be/5u9EpGNNc0I
~~~~~~~~~~~~~~~