ทุกชีวิตเวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วย “อวิชชา” หรือ “ความไม่รู้”
“ความไม่รู้” นี้เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ในวัฏสงสารอันยาวนาน จนเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด
กว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ และบอกความจริงที่พาสู่ความพ้นทุกข์นั้น เป็นโอกาสทองในวัฏสงสารที่หาได้ยากมาก อย่าปล่อยให้ผ่านไปอย่างเลื่อนลอยและไร้ความหมาย
ทางเลือก?
“ทุกคนมีสิทธิจะคิด มีสิทธิที่จะเลือก พวกหนึ่งก็มีความสุขใจที่ได้ทำบาปทำกรรม มีความสุขที่ได้ทำบาปทำกรรม แล้วก็มีความสุข นี่ก็พวกหนึ่ง เอ้า... ก็ทำกันไป ทำบาปทำกรรมไป ไม่งั้นเดี๋ยวโลกนรก โลกอบายภูมิ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรกมันจะไม่มี มันจะไม่มีใครไป เอ้า... มันก็ต้องมีไว้พวกนี้ อยากทำก็ทำกันไป
พวกหนึ่งก็สุขใจที่ได้ใส่บาตรอย่างนี้ ได้บุญเป็นอย่าง ๆ ได้บุญหลายตัว สุขใจแบบนี้ แค่นี้พอใจแล้ว เอ้า... ถ้าพอใจแค่นี้ก็ต้องแค่นี้ ไม่รู้จะเคี่ยวเข็ญอย่างไร เพราะพอใจแค่นี้”
พระพุทธเจ้าสอน ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งเป็นการพัฒนาจิตใจตามลำดับ จากเบื้องต้นไปจนถึงสูงที่สุด
“หลวงตาก็อยากให้พวกท่านเลื่อนพัฒนาจากแค่ “ทาน” เลื่อนมาถึงระดับ “ศีล” นี่ จึงมาสอนพวกท่าน ให้พวกท่านเลื่อนขึ้นมาจากทาน จากศีล มาภาวนา”
ทาน คือ การให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ แรงกาย แรงใจ หรือ ความรู้ เป็นต้น
“บุญกุศลที่มันสูงในด้านทานบารมี มันจะได้อานิสงส์ใหญ่ ก็มันต้องเกิดจาก 3 กรณี คือ
(1) ผู้รับบริสุทธิ์ ผู้รับนั้นมีจิตใจที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงขึ้นที่บริสุทธิ์ตกกระแสแล้ว คือตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ หรือกับพระพุทธเจ้าเลย
(2) ทรัพย์ที่เราหามาได้เอาไปให้ทานนั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์
(3) มีความสุขใจ อิ่มเอิบใจที่ได้ถวายทานครั้งนั้นอย่างยิ่งใหญ่ อิ่มเอิบใจอย่างที่สุด
3 อย่างประกอบกันจะได้บุญกุศลใหญ่ในการให้ทาน อย่างนี้ก็เรียกว่ามีปัญญาสูงขึ้นมาอีก คือได้ปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้า ไม่ได้คิดเอง เออเอง ไม่ใช่ว่าไปคิดเอง เออเองว่าทำบุญมาก ได้บุญมาก โดนเขาหลอกทำจนหมดเนื้อหมดตัวกลับมาบ้านเตะกันจนเขียวไปทั้งตัว”
การให้ทานนั้น แสดงว่าเป็นการชนะใจตน เพราะเป็นการชำระล้างความโลภ และความตระหนี่ และความเห็นแก่ตัวซึ่งเป็นกิเลส ออกจากใจ ไม่ใช่เพื่อหวังผลตอบแทนมาให้แก่ตัวเอง จึงเป็นการยกระดับจิตใจอย่างแท้จริง
ทานที่สูงที่สุด คือ “อภัยทาน” เป็นการสละความโกรธเกลียดต่อสิ่งที่ทำให้ใจขุ่นมัว
“อานิสงส์ จากการให้ทาน แผ่เมตตา มีอานิสงส์ถึง 11 อย่าง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหมด เข้าฌานง่ายดุจดั่งลมพัดไปในอากาศ หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไปไหนไม่ต้องระแวงภัย เทพเทวดาอารักษ์คุ้มครองรักษา”
ผู้ให้ทานนั้น ย่อมมีความสุข ความสบายใจ ความอิ่มใจ
ผู้ไม่เคยให้ ย่อมไม่รู้รสของการเป็นผู้ให้
“ทาน” ไม่จำเป็นต้องมากมาย แต่มันออกจากใจ ออกจากใจที่บริสุทธิ์ ก็ได้บุญกุศลใหญ่ คนทั้งหลายก็อิ่มเอิบในทาน เมื่อเขาอิ่มเอิบในทานด้วย สูงขึ้นไปอีก พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ให้ทานนานเท่าไหร่ มากมายขนาดไหนก็ตาม ไม่เท่าใจเป็นศีล ไม่เท่ากับศีล ใจเป็นศีล คือให้ทานด้วยแล้วก็ใจก็อิ่มเอิบในศีลด้วย คือไม่ทำบาปกรรม ไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เป็นทุกข์เดือดร้อนอีกต่อไป”
ศีล คือ ความปกติ ทางกาย วาจา ใจ เกิดจากความตั้งใจงดเว้น ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ศีล มีหลายระดับ พื้นฐานที่สุดคือ ศีล 5
“ข้อ 1 ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็เบียดเบียนผู้อื่น
ข้อ 2 เอาทรัพย์สินเงินทองของเขาโดยไม่ชอบ ก็เบียดเบียนผู้อื่น
ข้อ 3 ผิดลูก ผิดเมีย ผิดผัวเขา นี่ก็ทำให้เขาต้องเดือดร้อน เบียดเบียนผู้อื่น
ข้อ 4 โกหกหลอกลวงเอาผลประโยชน์จากคนอื่นเขาโดยไม่ชอบ ทำให้ผู้อื่นเขาเดือดร้อน พวกต้มตุ๋นหลอกลวง
ข้อ 5 ดื่มสุรายาเสพติดมึนเมา อันนี้ก็ทำให้เบียดเบียนตนเอง ให้เป็นทุกข์เดือดร้อน แล้วก็แถมอาจจะเบียดเบียนผู้อื่น ทะเลาะเบาะแว้งกัน ให้เป็นทุกข์เดือดร้อนอีก ไปติดยาเสพติด เล่นการพนัน เอาเงินพ่อแม่ไปผลาญหมด ก็ทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างนี้”
ไม่ว่าจะศีลระดับไหน ศีล 5, ศีล 8, ศีล 10, ศีล 227 อยู่ที่ “ใจที่ไม่คิดเบียดเบียน” เท่านั้น
“ใจที่ท่านอิ่มเอิบในทานในศีลนี่มันทำให้ท่านมีความอิ่มใจ สุขใจ ใจมันเลยสงบ มีความอิ่มใจ สุขใจในทานที่ได้ทำไว้ อิ่มใจสุขใจในศีลที่ได้รักษาไว้บริสุทธิ์ ใจมันเลยสงบด้วยอำนาจแห่งทานและศีล ”
“พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ให้ทานนานเท่าไหร่ก็ตาม ไม่เท่ากับรักษาศีลด้วย ให้ทานรักษาศีลด้วยนานเท่าไหร่ ไม่เท่าทำความสงบในขั้นสมถะ แค่งูตวัดลิ้น ช้างกระดิกหูแพล็บเดียว แค่นี้อานิสงส์สูงมหาศาล ให้ทานจนขนาดสร้างเจดีย์ด้วยทองคำสูงถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม่เท่ากับมาภาวนาจิตสงบลงแค่งูตวัดลิ้น ช้างกระดิกหู”
“หลวงตาก็อยากให้พวกท่านพัฒนา จากทาน จากศีลขึ้นมาภาวนา”
ภาวนา หมายถึง สติ สมาธิและปัญญา
“ภาวนา ก็คือทำสมาธิ ใจเป็นสมาธิ เป็นปัญญา หรือท่านเรียกว่า ขั้นสงบ ขั้นสมาธิ เป็นสมถะ แล้วก็ขั้นปัญญา เรียกว่า ‘วิปัสสนา’ ก็ได้”
การภาวนา เริ่มต้นจากการฝึกสติ ไม่ฟุ้งซ่านไปกับความคิดและอารมณ์ เมื่อสติมีความต่อเนื่องก็เป็นสมาธิ คือมีนิสัยที่มีความสงบเป็นพื้นฐาน และนำไปสู่การพิจารณาความจริงในขั้นปัญญา
“สมมุติง่าย ๆ อ่านหนังสือสอบ ผมไม่ได้มีสมาธิในการอ่านหนังสือสอบหรอก มันก็เลยสอบไม่ได้ เพราะไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือสอบ เหตุที่ไม่มีสมาธิในการอ่านเพราะว่ามันไม่มีสติควบคุมจิตได้เลย ปัญญามันก็เลยไม่เกิดคือ ปัญญาที่เข้าใจ เข้าใจข้อความ เนื้อความในหนังสือ เนื้อหาสาระในหนังสือที่จะเอาไปสอบ มันก็เลยสอบไม่ได้ อันนี้คือสติ สมาธิ ปัญญา
สังเกตดูนะ... หลวงตาไม่ได้พูดว่าสมาธิคือใจนิ่ง สมาธิคือคุณสามารถคอนเซนเทรด (Concentrate) คือคุณสามารถคอนเซนเทรดอยู่กับสิ่งนั้นได้ต่อเนื่อง มีความสนใจ มีความจดจ่อ มีความต่อเนื่องกับสิ่งนั้นได้”
“อันดับแรกถ้าคุณฟุ้งซ่าน คุณไม่สามารถที่จะจดจ่อ มีความรู้ ความเห็น ความเข้าใจต่อเนื่องได้ เขาก็สร้างกรรมวิธีมาให้คุณ เช่น นั่งหลับตา เดินจงกรมช้า ๆ นิ่ง ๆ กำหนดคำว่าอะไรไว้ กำหนดอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น พุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ เพื่อให้คุณหายฟุ้งซ่าน แล้วคุณสามารถที่จะมาคอนเซนเทรด หรือมาสนใจจดจ่อ ทำความเข้าใจจดจ่ออย่างต่อเนื่องกับสิ่งที่คุณจะเข้าใจมัน คือสังขารไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นจึงสร้างกรรมวิธีขั้นตอนขึ้นมาก่อน
คราวนี้เมื่อคุณหายฟุ้งซ่านแล้ว คุณก็เอามาทำงานสิ ก็เหมือนกับอ่านหนังสือสอบน่ะ เมื่อคุณหายฟุ้งซ่านแล้ว คุณก็เร่งอ่านหนังสือสอบทั้งวันทั้งคืน อ่าน ๆ ๆ ๆ ๆ แล้วคุณก็สอบได้ ไปสอบเข้างานก็สอบได้ แล้วพอคุณหายฟุ้งซ่านแล้ว คุณมาพิจารณางานสำคัญของการพ้นทุกข์ ก็คือให้เห็นว่าร่างกายจิตใจเป็นของไม่เที่ยง เป็นสังขาร สังขารตกอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง ยึดถือไม่ได้ ตัวตนไม่มี ไม่มีอยู่จริง คงที่จริง ๆ ไม่มี ก็น้อมพิจารณาเข้าทั้งวันทั้งคืน ให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการพิจารณาสังขารไม่เที่ยง ร่างกายจิตใจเป็นของไม่เที่ยง สติมันก็อยู่ที่นั่น ปัญญามันก็อยู่ที่นั่น”
แล้วรูปแบบไหนที่จะเหมาะสมกับเรา?
“มันต้องดูว่าเราอยู่ในรูปแบบใด แล้วเราปล่อยวางได้ดี อยู่ในสถานที่ใด อยู่ในอิริยาบถใด มีความเป็นอยู่อย่างไร แล้วเราถึงปล่อยวางได้ดี อันนั้นแหละคือสิ่งที่ดี สิ่งที่เหมาะสมกับเรา แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับคนอื่น”
“บางทีกรรมวิธีที่เค้าสร้างมาให้ไว้ทั้งหมดอาจจะไม่ถูกจริตนิสัยคุณ ใช่ไหม? ที่เค้าบอกพุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ ใครชอบหมดเลย แต่เราพุทโธแล้วเราไม่หายฟุ้งซ่าน เค้าบอกว่าไปกำหนดเดินช้า ๆ แต่เราไม่หายฟุ้งซ่าน แล้วแต่ว่าใครชอบ... ชอบใครชอบมัน คือบางคนอาจจะไปท่องเที่ยวธรรมชาติ ท่องเที่ยวธรรมชาติ พอเค้าเข้าไปธรรมชาติรู้สึกสดชื่น แป๊บเดียวหายฟุ้งซ่านเลย”
“เมื่อหายฟุ้งซ่านแล้ว พอใจสงบแล้ว แทนที่จะเอาความสงบนั้นไปพิจารณา แล้วมานั่งแช่อยู่ตรงความสงบน่ะ จะสอบแล้วแต่หนังสือไม่อ่าน ไอ้ที่ไปให้มันหายฟุ้งซ่านน่ะ เพื่อให้มาอ่านหนังสือสอบ แต่พอไปเที่ยวมาไปหายฟุ้งซ่านมา ไปภาวนามาไปกำหนดมา ไปอยู่วัดมาแล้วกลับมาแล้วก็หายฟุ้งซ่านแล้ว คราวนี้คุณจะสอบแล้ว แต่คุณไม่เอาความหายฟุ้งซ่านมาอ่านหนังสือสอบ คุณก็สอบไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้เอามาทำงาน คุณไปอยู่แต่ใจนิ่ง ๆ สงบเฉย ๆ คุณไม่ได้เอาไปใช้อะไรเลย”
แล้ววิปัสสนาซึ่งนำไปสู่ปัญญานั้น ทำอย่างไร?
“ให้สังเกตดี ๆ ก็จะเห็นว่า แม้แต่ใจสงบแล้ว แต่ตัวเราก็ยังพูดไม่หยุด พูดนี่ พูดนั่น คิดนั่น คิดนี่ คิดปรุงแต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยุกยิก ๆ ๆ แม้แต่ท่านไม่เหม่อเผลอเพลินไปนะ แต่ตัวเราก็ยังพูดไม่หยุด”
“ผู้ที่คิดนึกตรึกตรอง ปรุงแต่งในความสงบนั้น ก็คือตัวเรานั่นแหละ ตัวเราซึ่งเป็นขันธ์ห้านี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่แหละ มันคิดไม่หยุด พูดไม่หยุด”
“นั่นแหละคืออาการของขันธ์ห้า มันยุกยิก ๆ มันแสดงอะไรไม่หยุด กุ๊กกิ๊ก ๆ ยุกยิก ๆ ของมันตลอดเวลาน่ะ อันนี้ดับไม่ได้ ถ้าดับแล้วตายเลยเพราะมันเป็นขันธ์ห้า มันเป็นชีวิต ผู้ปฏิบัติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เข้าใจตรงนี้ผิดพลาด”
“พยายามจะดับ ไล่ดับมันทุกคิด ดับขันธ์ห้า”
การปล่อยวาง คือ แค่รู้สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่เข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนได้ ส่วนเสีย
“เมื่อท่านมีปัญญาเห็นว่าใจสงบขนาดไหนก็ตาม มีตัวเราแสดงอาการ มีความคิดนึกตรึกตรอง ปรุงแต่ง ยุกยิก ๆ ๆ ตลอดเวลา ค่อย ๆ ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่มีผู้เข้าไปยึดถือใจ ที่มันยุกยิก ๆ ๆ ๆ สังเกตเห็นแต่ตัวเรา ที่มันยุกยิก ๆ อยู่ในความสงบ แต่ไม่สนใจ ความสงบแล้วนะ ไอ้ตัวความสงบนั่น ไม่สนใจมันแต่แรกแล้วนะ ให้สติรักษาไป แล้วก็ไม่มีใครไปเสวย ยึดถือทั้งความสงบ ไปเสวยรองรับทั้งขันธ์ห้า ที่ยุกยิก ๆ ก็เลยสิ้น อุปาทานขันธ์ห้า”
นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน... กว่าพระองค์จะเพียรจนค้นพบความจริงของธรรมชาติ แล้วนำมาบอกสอนด้วยความเมตตา จนแม้กระทั่งวาระแห่งการปรินิพพานของพระองค์ โดยหวังเพียงให้พวกเราพ้นทุกข์ในวัฏสงสารไป
“ธรรมของพระพุทธเจ้าสาดส่องดั่งแสงพระอาทิตย์ ไปทั่วอนันตจักรวาล ทั่วพื้นปฐพี ให้แก่หมู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มีเลือกคนนั้น รักคนนี้ ชีวิตนั้น ชีวิตนี้ ดวงจิตวิญญาณนั้น ดวงจิตวิญญาณนี้ ไม่มีการเลือกเลย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ไม่มีเลือก ให้เปล่า เป็นผู้ให้เปล่า เหมือนดั่งแสงพระอาทิตย์ที่ให้เปล่า ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน จงน้อมนำเอาแสงแห่งธรรมนั้น ความเมตตาของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ทั้งหมด เข้ามาสู่ใจแทนโลก”
เมื่อธรรมอันบริสุทธิ์ได้ถ่ายทอดมาทางพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ มาจนถึงท่านแล้ว ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากวีดีโอ... “หลวงตาสอนอะไร (ทาน ศีล ภาวนา)”
https://youtu.be/7nSlLI_c2gE
~~~~~~~~~~~~~~~