เราจะพิจารณาอย่างนี้ได้ ใจเราต้องสงบซะก่อน ในการที่เราคิดหลากหลายฟุ้งซ่านไป เราต้องคิดหนึ่งเดียวก่อนหนึ่งอย่างที่เราเลือก เอากรรมฐาน 40 เรื่องอะไรอย่างหนึ่ง แล้วก็ให้มันรู้สึกไว้ในใจ อย่าให้หลุดออกไป
ให้รู้สึกไว้เป็น "อุคหนิมิต" รู้สึกไว้ หรือจะพิจารณาขยายเป็น "ปฏิภาคนิมิต" เป็นวิปัสสนากรรมฐานได้ เป็นปัญญาได้ การที่เราหน่วงไว้ได้แล้วมันไม่หายไป เรียกว่า "สมถะ" แล้วก็เป็นปฏิภาค ก็ค่อย ๆ พิจารณาขยายต่อไป ไม่ให้ภาพมันหาย
ถ้าจะเปรียบเทียบ อุคหนิมิตก็เหมือนกับรูป ออกมาเป็นรูปถ่ายไว้ในใจ... "ภาพนิ่ง"
แล้วก็ปฏิภาคนิมิตเหมือนกับ "วีดีโอ" วีดีโอก็ค่อย ๆเคลื่อนที่ไป เป็นภาพวีดีโอ เห็นจริงเห็นจังตามไปเลย โอ้โห... เป็นอย่างนี้เลย ๆ ตายแล้วจะมีสภาพเป็นอย่างนี้
สกปรก เน่าเปื่อยผุพัง มันสลายไปเป็นอย่างนี้ ๆ***พิจารณาซ้ำ ๆ อย่างนี้ เรียกว่า "วิปัสสนา" หรือเรียกว่าปัญญา "สมถะ" เรียกว่า สมาธิ***
ความจริงตอนเราพิจารณากาย มันจะรู้เท่าทันจิตไปด้วยในตัว***
ถ้าเราเอากรรมฐานอสุภกรรมฐาน หรือมรณานุสติ หรือเราบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ๆ ไว้ หรือรู้ลมหายใจเข้าออก พอมันหลุดปุ๊ป!ไปเรื่องอื่น ความรู้หนึ่งเดียวที่เรารู้ไว้กับสิ่งนั้นมันหายไปปุ๊บ เราต้องรีบกลับมาทันทีเลย
เราต้องให้รู้หนึ่งเดียวกับสิ่งที่เราล่อไว้ กับกรรมฐานที่ล่อไว้ พอหลุดปั๊ป! รู้ทัน หลุดปั๊ป! รู้ทัน หลุดปั๊ป! รู้ทัน แล้วกลับมาทันทีเลย อย่างนี้มันจะเร็วมากเลย จะส่งจิตออกนอกไม่ได้
จิตมันก็จะมีกำลังมากขึ้น แล้วสุดท้ายจิตก็มาอยู่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับกรรมฐานที่ล่อจิตไว้ เรียกว่าจิตเป็น "เอกัคคตาจิต"
"เอกัคคตารมณ์" จิตเป็นหนึ่งเดียว มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว พอจิตกับอารมณ์รวมเป็นหนึ่งเดียว มันก็จะรวมวูบไปเหมือนถูกดูดนะ มันจะเหมือนถูกดูดเข้าไปในเครื่องดูดฝุ่น แล้วเครื่องล่อกรรมฐานมันก็จะหายไป แว๊บไป แล้วก็มันสว่างเจิดจ้า แล้วก็ ฟึ๊บ!... ขึ้นมาจากภายใน ซู่ซ่า ๆ กายเบา ใจเบา ซู่ซ่า ๆ กายเบา ใจเบา บางทีน้ำตาเอ่อคลอ เหมือนเหาะเหินเดินอากาศได้เลย
ตอนที่จิตมันรวมเป็นหนึ่ง เค้าเรียกว่า "เอกัคคตาจิต" คือ จิตมันรวมเป็นหนึ่ง อารมณ์สมาธิที่ถูกต้อง ต้องเริ่มด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข อุเบกขา มันต้องมีเครื่องล่อซะก่อนไม่ใช่อยู่ ๆ เริ่มต้นนั่งสมาธิ หลายคนทำผิดจับนิ่งจับเฉย อยู่ ๆ จับนิ่งจับเฉยเลย ไม่ใช่นะ! มันต้องเรียงมาก่อน วิตก วิจาร ปีติ สุข อุเบกขา
วิตก วิจาร ก็คือ มันต้องหน่วงมาก่อน หน่วงให้ติดสักอันหนึ่ง ความคิดหลายอย่างฟุ้งซ่านไป เหลืออย่างหนึ่ง***
สมาธิหมายถึงว่ามันเป็นตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ฝึกไว้ 24 ชั่วโมง ยืน เดิน นั่ง นอน เข้าห้องน้ำห้องส้วม ดื่ม กิน เดินทางไปไหนมาไหน ทำงานอะไรแล้วมันอยู่ในใจตลอดไม่หายเลย หกคะเมนตีลังกาก็ไม่หาย อุคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ไม่หาย จะอยู่ในอริยาบทใดก็ไม่หาย อย่างนี้สุดยอด***
จิตมันรวมเป็นเอกัคคตาจิต ฟึ๊บ!... แล้วสว่างซู่ซ่า ๆ กายเบาใจเบา เค้าเรียก "ปีติ" ปีติก็สติอย่าขาด ก็สักแต่ว่ารู้ปีตินั่นแหละ อารมณ์ปีติมันจะมาแทนเครื่องล่อที่เราเอาไว้ตอนแรก เช่น พุทโธ พุทโธ ๆ จะหายไป มันก็จะเป็นปีติ สว่างเจิดจ้า มีอาการซู่ซ่า ๆ อันนั้นมันจะมาแทนเครื่องอันแรก มีอารมณ์ปีติเป็นเครื่องล่อแทน สติก็อยู่กับเครื่องล่อนั้น ไม่ให้ฟุ้งซ่านออกไปไหน อย่าให้ความฟุ้งซ่านมันมาแทรกแซง อย่าให้นิวรณ์ 5 กามฉันทะ พยาบาท อุุทธัจจะ กุกกุจจะ หงุดหงิด ฟุ้งซ่านรำคาญใจ วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย
ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อย่าให้มันเข้ามาแทรกได้ ตอนนี้ให้มัน ตื่น ๆ ๆ ๆ ตื่นตัวตลอดเวลา
แล้วอารมณ์พวกนี้มันจะต่อเนื่องจริง ๆ ปีติจะต่อเนื่อง พอมันต่อเนื่อง ๆ ๆ มันจะเต็มฐาน เค้าเรียกเต็มฐานร้อยเปอร์เซ็นต์ ปุ๊ป! มันก็บึ้ม!..ปีติหายไปเป็นอารมณ์สุขตีตื้นขึ้นมาจากข้างใน สุข ๆ ๆ ๆ ที่สุดในชีวิต ในชีวิตเกิดมาไม่เคยมีความสุขอย่างนี้ มันจะตีตื้นขึ้นมาจากข้างใน
โอ้โห... จนเหมือนทะลุหัวไปเลย ทะลุมากเลย สุขที่สุดในชีวิต ๆ อารมณ์สุขมันก็จะมาแทนเครื่องล่อที่ 1 แทนอารมณ์ปีติ อันที่ 2 มันจะเรียกว่ามาขั้นที่ 3 อารมณ์สุขมันจะมาแทนเครื่องล่อแทน แล้วก็สติก็รู้อยู่กับเครื่องล่ออารมณสุขนั่นแหละ อย่าให้นิวรณ์ 5 เข้าครอบงำ
พออารมณ์สุข เต็มฐานปุ๊บ อารมณ์สุขก็จะดับหายวูบไป จิตมันรวมเป็นอุเบกขาเงียบ แต่ไม่ใช่เงียบนั่งหลับนะ คือมันเงียบ ลักษณะคล้าย ๆ นักประดาน้ำใส่เครื่องประดาน้ำ แล้วก็ใส่เครื่องที่ถังออกซิเจนใหญ่ ๆ แล้วก็ดำไปก้นท้องทะเลลึก เหมือนจระเข้กบดานอยู่ก้นท้องทะเลลึก อยู่ก้นมหาสมุทร อยู่ก้นท้องทะเลลึก... เงียบ... แต่ในความเงียบเนี่ย มันสว่างเหมือนพระอาทิตย์ หรือพระจันทร์วันเพ็ญ 15 ค่ำ
แล้วก็กลวงนะ กลวงหัวจรดเท้า กลวงหน้า กลวงหลังหมดเลย เหมือนหน้าอกเรานี่ถูกคว้านกลวงโบ๋เลย คนที่ยืนข้างหน้าเรา กับคนที่อยู่ข้างหลังเนี่ยมองเห็นกัน คนที่อยู่ข้างหน้าเราข้างหลังเนี่ย มองทะลุตัวเรา มองเห็นกันเลย แล้วก็คนที่ยืนหัวเรา กับคนท้ายที่ยืนปลายเท้าเรา มองทะลุกัน ตัวเรากลวงโหวงเลย เหมือนท่อส่งน้ำ ไม่มีอะไรติดขัดเลยเหมือนท่อส่งน้ำริมถนนเลย กลวงโหวงเลย แล้วก็สว่างเจิดจ้าดุจดวงอาทิตย์ พระจันทร์วันเพ็ญ 15 ค่ำ
พวกนี้นะมันจะหายไปเมื่อนิวรณ์ 5 เข้าครอบงำ เล่นแชทเล่นไลน์ เล่นโทรศัพท์มือถือ เพลิดเพลินเจริญใจ กินมากนอนมาก พูดมาก ไม่สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คลุกคลีหมู่คณะ แล้วก็ไม่มีหิริโอตัปปะละอายแก่ใจ ฟุ้งซ่านไม่ละอายต่อพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่มีขันติ อดทนอดกลั้น ข่มใจ ระงับยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้ไหลไปตามกิเลส พวกนี้เรียกว่า เดินในทางแห่งความเสื่อม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าใครเลือกเดินทางแห่งความเสื่อมย่อมเสื่อม เลือกเดินทางความเจริญ ย่อมเจริญ
ก็เพียร ๆ อย่างที่หลวงตาสอน เพียรเข้า
จงเดินอยู่ในทางแห่งความเจริญ เป็นผู้มีสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร มีขันติ อดทน อดกลั้น ข่มใจ ระงับยับยั้งชั่งใจ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ไม่คลุกคลีหมู่คณะ สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ไหลไปตามกิเลส มีหิริโอตตัปปะ ละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาป ไม่แอบคิด แอบพูด แอบกระทำอะไรในที่ลับที่แจ้ง
จงมีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีขันติ ท่านก็จะประสบความสำเร็จได้
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากวีดีโอ “พิจารณากาย (พิจารณาใจ) ตอนที่ 1”
(วีดีโอใช้สำหรับเปิดในคอร์สที่องค์หลวงตาแสดงธรรมเท่านั้น)
หมายเหตุ : ฟังไฟล์เสียงที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อความถึงใจ
191102A1-1 พิจารณากายรู้เท่าทันจิต ตอนที่ 1
https://youtu.be/ntHDemhdJQI
191102A1-2 พิจารณากายรู้เท่าทันจิต ตอนที่ 2
https://youtu.be/_FuyxmQlXUA
~~~~~~~~~~~~~~~