โยม : กราบนมัสการขอโอกาสค่ะ
เสียงแห่งความเงียบในจิต กับเสียงแห่งความเงียบในธรรมชาติ เป็นอันเดียวกันหรือไม่คะ
และเสียงแห่งความเงียบใช่ใจไหมคะ เป็นเสียงที่มีอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยรับรู้เพราะเราหลงคิด หลงกระทำ วุ่นวายในใจ หรือเอาใจไปตั้งอยู่ที่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์อยู่ตลอดใช่ไหมคะ
กราบขอบพระคุณค่ะ
หลวงตา : “เสียงแห่งความเงียบในจิต” เป็นเพราะใจพบใจบริสุทธิ์ หรือ จิตบริสุทธิ์ หรือ ธาตุรู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม อมตธาตุ อมตธรรม สุญญตาธาตุ หรือ นิพพานธาตุ มันรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างหรือช่องว่าง ซึ่งเป็นอากาศธาตุในตัวเรานี้ แต่อากาศธาตุ ซึ่งเป็นความว่างไม่มีความรู้ในตัวมันเอง
ส่วน “เสียงแห่งความเงียบในธรรมชาติ” เป็นเพราะใจพบใจบริสุทธิ์ หรือ จิตบริสุทธิ์ หรือ ธาตุรู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม อมตธาตุ อมตธรรม สุญญตาธาตุ หรือ นิพพานธาตุ ที่เคยรวมอยู่กับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ เป็นขันธ์ห้าของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก
เมื่อขันธ์ห้าของพระองค์แตกดับแล้ว ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ (ความว่าง) และ ธาตุรู้บริสุทธิ์ (ไม่มีผู้หลงยึดถือ) ก็กลับคืนสู่ธาตุในธรรมชาติ ส่วนธาตุรู้บริสุทธิ์ มันเป็นเหมือนกับความว่าง (ธาตุอากาศ) มันรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างของอากาศธาตุในธรรมชาติ
***** ดังนั้น ธาตุรู้บริสุทธิ์ หรือ เสียงแห่งความเงียบ มันเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในตัวเรา และ ในธรรมชาติภายนอกตัวเรา
แต่เป็นเพราะมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หลงยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา แล้วดิ้นรนทะยานอยาก (ตัณหา) ไปตามกิเลส จึงไม่พบธาตุรู้บริสุทธิ์
*****ต่อเมื่อขณะจิตใดความดิ้นรนทะยานอยากหยุด หรือดับไปด้วยความรู้ ความเห็น ความเข้าใจในสัจธรรม หรือ ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะพบธาตุรู้ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเป็นเสียงเงียบในจิต และ เสียงเงียบในธรรมชาติ เพราะเป็นเสียงเงียบเดียวกัน
เพียงแค่รู้จักเขา... แต่ไม่ได้ยึดถือเขา
เพราะถ้ามีผู้ยึดถือ ย่อมไม่บริสุทธิ์
เปรียบเหมือนกับว่า เราเคยได้ยินแต่ชื่อคนที่ชื่อว่า "จิตหรือใจ หรือธาตุรู้บริสุทธิ์" ซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมชาติ และในธาตุขันธ์ของเรา แต่เราไม่รู้จักเขา
ต่อเมื่อพบเขาบ่อย ๆ ก็จะรู้จักเขา โดยไม่ต้องพยายามจำไว้แต่ไม่ใช่พบเขา รู้จักเขา เพื่อยึดเขา
“พบใจ (ธาตุรู้) พบธรรม (วิสังขาร หรือ อสังขตธรรม.....) ถึงใจ ถึงพระนิพพาน”
แต่โดยธรรมชาติของคน เมื่อพบสิ่งที่ถูกใจ ก็จะยึดถือสิ่งนั้น
ดังนั้น เมื่อ พบใจ หรือ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นเสียงเงียบภายในจิตและในธรรมชาติ ก็จะยึดถือ อยากได้ อยากเอามาเป็นของตน
*****ต่อเมื่อมีสติ ปัญญา รู้เท่าทันความปรุงแต่งเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา หลงยึดถือใจ หรือธาตุรู้
จนสิ้นหลงมีตัวตน มีเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา ผู้หลงยึดถือใจหรือธาตุรู้
ใจ หรือ ธาตุรู้ ก็บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
28 ธันวาคม 2562
~~~~~~~~~~~~~~~