“กายวิเวก” คืออยู่ในสถานที่วิเวก เธอต้องไม่คลุกคลีหมู่คณะ เป็นผู้ที่สันโดษ แต่แม้เธออยู่ตัวคนเดียว อยู่ในสถานที่วิเวก แต่เธอมีกิเลสตัณหาเป็นเพื่อน นี้เธอก็ไม่ได้อยู่สันโดษ
แต่ถ้าอยู่คนเดียวในสถานที่สงบวิเวก ไม่มีกิเลสตัณหาเป็นเพื่อน จะทำให้กายวิเวก วาจาวิเวก (เพราะไม่ได้พูด) จิตวิเวก (เพราะไม่ได้คิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน)
กายวิเวก วาจาวิเวก จิตวิเวก ก็เพราะว่าอยู่ในสถานที่ที่วิเวก มันก็เลยทำให้กิเลสวิเวกไปด้วย คือกิเลสสงบระงับไป เรียกว่า “อุปธิวิเวก”
การจะพ้นทุกข์ได้ก็มาจากวิเวก ที่ท่านกล่าวว่า “วิเวก ๓” มีในบทพระธรรม กายวิเวก วาจาวิเวก จิตวิเวก จึงเป็นอุปธิวิเวก
กายจะวิเวกได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าต้องสันโดษ อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม ที่วิเวก และจะต้องไม่มีกิเลสตัณหาเป็นเพื่อน เรียกว่า วิเวกทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ สถานที่วิเวกมันก็เลยสมดุลหมด กิเลสก็เลยวิเวก
การที่เราอยู่ตัวคนเดียว และไม่มีกิเลสตัณหาเป็นเพื่อน เพราะมีสติคุ้มครองรักษากาย วาจา ใจไว้ เพราะเรามีหิริโอตตัปปะ ละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาป ละอายต่อพระพุทธเจ้า ละอายต่อพระธรรม ละอายต่อพระอริยสงฆ์ ละอายต่อเทพเทวดาที่ปกปักษ์รักษา
เดินอยู่ในทางแห่งความเจริญ คือ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ไม่คลุกคลีหมู่คณะ สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และไม่เอาเรื่องโลก ๆ มาหมกมุ่นไว้ในใจ ไม่มีกิเลสตัณหาเป็นเพื่อน มีสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรไม่ย่อหย่อน
อยู่ในสถานที่วิเวก กายวิเวก วาจาวิเวก จิตวิเวก ก็จะถึงซึ่ง “อุปธิวิเวก” นี่เป็นทางตรงที่ทำให้พ้นทุกข์
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมก่อนฉันภัตตาหารเช้า
ณ พุทธธรรมสถานปัญจคีรี
วันที่ 16 ธันวาคม 2562
~~~~~~~~~~~~~~~