โยม : ผมอยากทราบว่า ผมควรเดินทางปัญญา หรือพิจารณากาย เพื่อต่อยอดจากภพภูมิที่แล้วมาครับ
ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว การเกิดเป็นทุกข์มาก การไม่เกิดก็ไม่ทุกข์ ความสุขที่สุดคือการไม่ติดบ่วงในโลก อิสระที่สุดคือใจที่อิสระจากจิต
ขอหลวงตาได้โปรดชี้ทางผมด้วยครับ
หลวงตา : แยกแยะร่างกายตัวเองให้เห็นละเอียดชัดเจนทุกแง่ทุกมุมอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย แม้แต่กระดูกก็เอาไฟเผาให้หมดสิ้น ไม่เหลือตัวตน
โยม : สาธุครับหลวงตา กระผมจะนำไปพิจารณาอย่างต่อเนื่อง
ที่กระผมขอให้หลวงตาชี้ทางเพราะสับสนในจิต เพราะรู้สึกว่าตัวพิจารณาได้ทั้งสองทาง แต่ไม่รู้ว่าทางใดเป็นทางเดินที่ตรงของตนเอง สาธุ สาธุ
หลวงตา : “ธรรม” ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน
“ธรรม” ก็คือการปล่อยวางตัวเรา หรือ สังขารกาย (กายสังขาร) และ สังขารจิต (จิตตสังขาร) หรือ สิ้นหลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนคงที่ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
จึงต้องเพียรพิจารณาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ให้เห็นสัจธรรมความจริงจากใจ ว่า ขันธ์ห้า ซึ่งเรายึดมั่นถือมั่นว่า “เป็นตัวเรา” นั้น แท้ที่จริงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนคงที่ ไม่ใช่เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
เมื่อใจเขารู้เห็นตามความเป็นจริงดังกล่าว เขาก็จะสิ้นหลงยึดมั่นถือมั่นของเขาเอง เรียกว่า “ปล่อยวาง”
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
17 ตุลาคม 2562
~~~~~~~~~~~~~~~