จากข้อธรรม องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วิสัชนาโดย ท่านหลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
พระธรรมเทศนา องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อถึงจิตแล้วไม่มีทางไป "มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ,ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ " ต่อจากนั้นก็ไป นิพฺพินฺทํ อันเดียวกัน อันนี้เรายอมรับในภาคปฏิบัติ เราปฏิบัติจริงนี่ มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
ในภาคปฏิบัติ
ส่วนอนัตตลักขณสูตรนี้ พอไปถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เบื่อหน่ายสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังไม่ถึงตัว "จิตอวิชชา"
ก็ผ่านไป นี่เราเข้าใจว่าท่านตัดออก
นี่เราได้พิจารณาแล้ว พิจารณารูป รู้เท่ารูป ปล่อยรูป
ภายในใจก็รู้ชัด ๆ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้เท่าหมด ปล่อยหมด แต่มันยังไปติดอยู่ในใจ มันไม่พ้นนี่นะ
เวลาปฏิบัติ มันก็ไปถือใจอยู่นั้นเสีย
ถือใจก็คือ มานะ อวิชชา ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องบนนั่นแล
จะเป็นอะไรไป ถ้าไม่เป็นตัว *** ใจล้วน ๆ กับอวิชชากลมกลืนกันอย่างสนิทติดจมน่ะ *** เราพิจารณาอย่างนั้น
มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันก็อยู่ที่ใจทั้งหมดนี่
เมื่อเข้าถึงใจแล้วมันถึงได้รู้ตัวมานะ
คือ ความถือใจมันเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง
ท่านเรียกสังโยชน์เบื้องบน คือ กิเลสประเภทละเอียด
ที่จิตยังติดข้องอยู่ ยังไม่รอบตัว
พูดง่าย ๆ *** อวิชชาฟังดูซิ จะอยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ที่จิต ***
ไม่ได้อยู่ที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นะ
ไล่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอาการทั้งห้านี้ ด้วยสติปัญญารอบไปหมด ปล่อยไปหมดแล้วมันยังไม่เห็นพ้นจากทุกข์นี่ ไม่เห็นพ้นจากกิเลสนี่นะ
พอไล่เข้าไปถึงจิต มันก็ไปโดนเอาตัว มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จนได้ พอหมดอันนั้นแล้ว ไม่ต้องบอก บอกทำไม นิพพานอยู่ที่ไหนไม่ต้องบอก ไม่ต้องถามใครด้วยพ้นหรือยังจิตที่นี่
ไม่ถามใคร ถามทำไม "สนฺทิฏฺฐิโก" พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงผูกขาด เมื่อปฏิบัติให้รู้เห็นตามหลักนี้แล้วมันก็รู้ชัดเจนขึ้นมาเอง แม้พระองค์ประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ถาม ไม่ว่าสาวกองค์ใดจะไม่ถามเลย เพราะความจริงเท่ากัน
นี่การปฏิบัติ อันไหนที่มันแย้งกันเราก็บอกว่าแย้ง
ทางภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เช่น อาทิตตปริยายสูตรนี้ไม่มีทางแย้งได้เลย เอานั้นมาเทียบกับอันนี้ถึงแย้งกัน ระหว่างอาทิตตปริยายสูตร กับ อนัตตลักขณสูตร
แต่เรายังถือว่าท่านแสดงเพียงสรุปเอา
*** ถ้าแสดงเต็มภูมิแล้วจะต้องถึงจิตอันเป็นตัวการ
ไม่ถึงจิตจะหลุดพ้นไปไม่ได้ ***
ขัดต่อหลักความจริงของการปฏิบัติ ของปัญญาที่จะเข้าถึงกัน
นี่เข้าถึงเพียงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ปล่อยนี้ไปแล้ว ก็ไปแบกทุกข์ไว้ที่ใจ แบกอวิชชาไว้ที่ใจ
ก็เหมือนตัดต้นไม้ ตัดกิ่งตัดก้านตัดอะไรมันออก รากแก้วไม่ถอนขึ้นมามันก็งอกขึ้นมาอีกละซิ ถอนรากแก้วพรวดขึ้นมาหมดแล้ว กิ่งก้านไม่ต้องไปตัด มันก็แหลกหมด มันตายด้วยกันหมดนั่นแหละ อวิชชา เป็นตัวสำคัญมาก
เราเห็นอย่างนั้นการปฏิบัติ จริงจังอยู่ภายในจิต รู้ชัด
การปฏิบัติธรรมจึงไม่จำเป็นต้องให้ถูกตามปริยัติเปรี๊ยะ ๆ ไปทีเดียว ตรงไหนแยกก็ให้ทราบว่าแยกด้วยภาคปฏิบัติของตน
ตรงไหนเข้าร่วมกันก็ให้รู้โดยภาคปฏิบัติของตัว ไม่ให้คาดไม่ให้เดา
ดัง สมาธิ ปัญญา นี่ก็เหมือนกัน ของแต่ละราย ๆ แต่ละนิสัยเอา สมาธิของเราเป็นอย่างไร ความสงบของเราเป็นแบบไหน ให้รู้ภายในตัวเอง อย่าเอาเรื่องของคนอื่นมาคาดหมายเทียบเคียง มาเป็นสมบัติของตน มันเป็นสิ่งหยิบยืม มันไม่ใช่ของจริง ของจริงแล้วเป็นขึ้นมาอย่างไร นั้นแลคือของเราแท้
ของเรามีความสงบแบบนี้ ปัญญาของเราเดินแบบนี้ หนักในการพิจารณาทางนั้น ๆ องค์นั้นท่านชอบอย่างนั้น องค์นี้ท่านหนักไปในทางนี้ เป็นเรื่องของแต่ละท่าน ๆ อย่าเอามาคละเคล้ากัน ปฏิบัติให้จริงจังอย่างนี้โดยอยู่ในหลักสัจธรรมด้วยกัน
มรรคผลนิพพานจะอยู่ที่ไหนละที่นี่ เมื่อสติปัญญาได้หยั่งเข้าไปถึงจิตซึ่งเป็นที่รวมของอวิชชาตัวภพตัวชาติแล้ว
และกระจายมันออก ทำลายมันได้โดยสิ้นเชิง ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่แล้ว อะไรจะมาเป็นภพเป็นชาติอีก มันไม่มี แล้วก็ไม่มีอะไรจะเทียบด้วย ถ้าว่าว่างเสียหมดอย่างนี้ คนก็จะคาดว่าว่าง…..
อย่างไหนไม่รู้ ความจริงมันเป็นอยู่นี่รู้อยู่ชัด ๆ เต็มหัวใจแต่พูดไม่ออก ยกเอามาสมมุติ เพราะอันนั้นไม่ใช่สมมุติ จะมาพูดแบบสมมุติจะให้มันตรงแบบธรรมชาตินั้นมันตรงไม่ได้ เพราะอันนั้นเป็นวิมุตติ อันนี้เป็นสมมุติ เป็นแต่เพียงข้อเทียบเคียงกันไปเท่านั้น
จงพากันตั้งใจปฏิบัติอย่าท้อถอยอย่าลดละ อยู่ที่ไหนอย่าเผลอ อย่าลืมเนื้อลืมตัวอย่าหลงกับสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ เป็นของเก่าแก่เคยมีมาดั้งเดิม วัตถุอารมณ์ต่าง ๆ มีอยู่เต็มแผ่นดิน ไปที่ไหนก็มีแต่อันนี้ ดินฟ้าอากาศ ต้นไม้ภูเขา เราเห็นอยู่แล้วด้วยตาตั้งแต่วันเกิดมา ตื่นเต้นกับมันอะไรกัน ฟังแต่ว่าโลกสมมุติเป็นไร อะไร ๆ ก็สมมุติ สมมุติกันขึ้นมา ๆ เมื่อสมมุติกันขึ้นมาแล้วก็หลงกัน โลกทั้งโลกมีแต่ความหลงสมมุติกัน ไม่มีใครรู้สมมุติกันบ้างเลย
ความหลงสมมุติ ความติดสมมุติ ก็คือ ความติดทุกข์ ความจมอยู่ในทุกข์นั่นแล จึงไม่ใช่ความฉลาด สมมุติก็ให้รู้ว่าสมมุติ
เมื่อรู้สมมุติรอบหมดแล้วก็เป็นวิมุตติขึ้นมาเอง ภายในใจดวงที่เคยหลงเคยติดนั่นแล เอาละ
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ขันธ์ ๕ ต่างหากจากจิต
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโณ
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
คัดลอกพระธรรมเทศนาส่วนหนึ่งจาก : https://sites.google.com/site/smartdhamma/khanta_jit
ที่มาภาพองค์หลวงตา www.luangta.com
คำถามจากลูกศิษย์ หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
หลังจากอ่านพิจารณา พระธรรมเทศนาขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์ องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
โยม : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ
ธรรมจากองค์หลวงตามหาบัววันนี้ ละเอียดลึกซึ้งมากเจ้าค่ะ
หลวงตา ที่ท่านบอกว่า "อวิชชามันกลมกลืนจมสนิทกับใจ"
ถ้าจะเปรียบเหมือนผงคาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำ
มันทำให้น้ำเปลี่ยนสี เราจะทำให้น้ำกลับเป็นสีใสอีกได้ด้วย
วิธีใดเจ้าคะหลวงตา
โดยใช้ปัญญาอันสูงสุด แค่ถอนความยึดมั่นถือมั่น
ความเป็นตัวตนออกมา ด้วยความเพียร ความอดทน
น้ำไม่ได้เปลี่ยนสี กิเลสก็ยังคงเป็นกิเลส
เพียงแต่น้ำจะกลายเป็นไอลอยไปในอากาศ ไปรวมอยู่กับความว่างของอากาศ จักรวาลใช่ไหมเจ้าคะหลวงตา
กราบขอหลวงตาโปรดเมตตา ชี้แนะสอนสั่งด้วยเจ้าค่ะ
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
หลวงตา : สาธุ
สิ่งใดปรุงแต่งเกิดดับได้ เรียกว่า "สังขาร"
ส่วน "วิสังขาร" จะคิดปรุงแต่งยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเราไม่ได้
ดังนั้น ความปรุงแต่งหลงยึดถือขันธ์ห้า หรือ หลงยึดถือใจ
ว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา นั้น
ก็เป็นเพียงสังขารที่ปลอมปนผสมอยู่ใน “วิสังขาร”
เป็นเหมือนผงคาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำ
แต่สำหรับผู้ที่เฝ้าสังเกตจิตใจของตนเองอยู่เงียบ ๆ
ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร และ ขันติ
โดยไม่มีตัวตนของผู้เฝ้าดู
ซึ่งระหว่างการฝึกอย่างหนัก จะหลงมีตัวตนของผู้เฝ้าดูเสียก่อน โดยหลงยึดถือว่า เราเป็นผู้เฝ้าดู หรือ ผู้เฝ้าดูเป็นตัวเรา
ความรู้สึกว่าเราเป็นผู้เฝ้าดู หรือ ผู้เฝ้าดูเป็นตัวเรานั้น
จะเป็นเหมือนกับผงคาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำบริสุทธิ์
ซึ่งเป็น “อวิชชา” ตัวจริง
แต่ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่าผู้เฝ้าดูนั้น เป็นสังขาร
เพราะสามารถคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ได้ เช่น มีเจตนา จงใจ ตั้งใจ พยายามที่เริ่มต้นจะดูจิต
มีความแทรกแซง มีความอยาก มีความพยายาม ดิ้นรน ค้นหา สงสัย มีความเพ่ง จ้อง เน้น กด ข่ม บังคับ กดดันตนเอง หงุดหงิดเมื่อปฏิบัติไม่ได้อย่างใจอยาก มีความสุขใจสบายใจ
เมื่อปฏิบัติได้อย่างใจอยาก
ปรุงแต่งยึดถือว่าเราเป็นผู้ดู เราเป็นผู้รู้ เราเป็นผู้เห็น
เราเป็นผู้รู้แจ้ง เราถึงธรรม เราบรรลุนิพพาน..... เป็นต้น
เมื่อรู้เท่าทันสังขารที่ปรุงแต่งเป็นเรา หรือ ตัวเราผู้เฝ้าดูจิตแล้ว ก็ไม่หลงทำตามสังขาร ที่ปรุงแต่งเป็นเราหรือตัวเราเริ่มต้นมีเจตนา จงใจ ตั้งใจ หรือ พยายามจะดูจิต หรือ แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวในปัจจุบันขณะนั้นเสีย
และไม่หลงไปพยายามดับเขา
แล้วสังขารในปัจจุบันขณะก็จะเกิดเอง ดับเอง เกิดเอง ดับเอง.......... โดยไม่มีตัวตนของผู้เฝ้าดู ไม่มีตัวตนของเราไปรองรับหรือไปยึดถือสิ่งเกิดดับ
ก็จะรู้เห็นจากใจจริง ๆ ว่า สังขารในปัจจุบันขณะที่เกิดเอง ดับเอง เกิดเอง ดับเอง..... โดยไม่มีตัวตนของผู้เฝ้าดู
ไม่มีตัวเราของเราไปยึดถือรองรับนั้น เกิดดับในความว่าง
ที่ไม่ปรากฏอะไรเลย
แต่ถ้าหากรู้ไม่เท่าทัน ก็จะหลงมีตัวตน มีเรา หรือ มีตัวเรา
เป็นผู้หลงยึดถือความว่าง และ รังเกียจสังขารที่เกิดดับ
ถ้าสังเกตให้ดี ๆ โดยไม่มีตัวตนของผู้สังเกต หรือ ไม่หลงมีตัวเราเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ก็จะรู้เท่าทันความหลงเอาสังขาร
มายึดถือ "วิสังขาร" ซึ่งเป็นความไม่มีอะไรปรากฏ
โดยหลงสังขารปรุงแต่งเป็นความอยากพ้นทุกข์
หรือ อยากเป็นวิสังขารอย่างถาวร ซึ่งมันเป็นอวิชชา เหมือนกับผงคาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำที่บริสุทธิ์
แต่สำหรับผู้มีสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร และขันติอย่างต่อเนื่อง ก็จะสังเกตเห็นว่ายังหลงยึดถือว่าผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เข้าใจ ผู้รู้แจ้ง ผู้เงียบ สงบ สงัด ผู้ถึงความว่าง ผู้นิพพานเป็นเรา
เป็นตัวเรา เป็นของเรา
ยังมีกิเลส มีความทุกข์ มีความกังวล มีความผ่องใสแล้วเศร้าหมองได้ มีความรู้สึก นึก คิด ตรึก ตรอง วิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย สงสัย ดิ้นรนค้นหา ยังโหยหานิพพาน มีการปรุงแต่งพูดพากษ์อยู่ในใจคนเดียวเหมือนคนบ้าอยู่ตลอดเวลาได้ หรือ มีอาการต่าง ๆ เกิดดับได้
ถ้าไม่รู้เท่าทัน ก็จะหลงไปเป็นสังขารเหล่านี้
เกิดเป็น “อวิชชา” ห่อหุ้มจิตหรือใจที่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นความว่างไว้ภายใน เป็นเหมือนกับลูกโป่งวิทยาศาสตร์ หรือ ลูกโป่งฟองสบู่ ที่เด็กเอามาเป่าเล่น ที่ห่อหุ้มความว่างไว้ภายใน โดยจะหลงมีเรา ตัวเรา ตัวตนของเราอยู่ในห้องว่าง
เมื่อรู้เท่าทันว่าหลงเอาสังขารมาปรุงแต่งยึดถือจิตหรือใจบริสุทธิ์ ก็จะสิ้นหลง
จิตหรือใจจึงเป็นความบริสุทธิ์ หรือ นิพพานแท้จริง ๆ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
19 กรกฎาคม 2562