โยม : หลวงตาครับ ผมลองกำหนดตั้งผู้รู้ไว้เพื่อจะเฝ้าสังเกตการเกิดขึ้นของสติ
1. พบว่า สติกับสังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) มันอยู่คู่กันตลอด เกิดสลับกันไปมา
2. แม้ว่าสติจะเกิดขึ้นเพียงแว๊บเดียว จากนั้นความคิดปรุงแต่งก็เกิดตามมา
3. แต่สิ่งที่เฝ้าสังเกตุเห็นก็คือ ทั้งสติและความคิดมันผุดขึ้นเกิดเอง - ดับเอง / ไม่มีตัวเราไปยุ่งกับมัน
4. สังเกตุลึกลงไปอีกพบว่าทั้งสติและสังขารปรุงแต่ง ผุดขึ้นจากความว่าง
5. จึงปล่อยวางผู้รู้ตั้งรู้ไว้ ส่งคืนธรรมชาติสังขารปรุงแต่ง
หลวงตา : เพียรเห็นอย่างนั้น นั่นแหละ เพียรปล่อยวางสังขารทุกปัจจุบันขณะให้ต่อเนื่อง จนกว่าจะพบธาตุรู้ตามธรรมชาติ
เห็นว่าธาตุรู้ที่รวมกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ (ความว่าง) และธาตุรู้ (เป็นเหมือนธาตุอากาศ แต่มีความรู้) รวมกันด้วยอำนาจ “อวิชชา” เกิดเป็นขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสังขารปรุงแต่งรวมกันของธาตุต่าง ๆ ตามธรรมชาติและอวิชชา จึงเป็นสังขาร
แม้ “อวิชชา” ก็เป็นสังขาร คือ สิ่งปรุงแต่ง เกิดดับ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ใช่ตน ใช่เรา ตัวเรา หรือ ของเราที่แท้จริง เป็นสิ่งสมมติว่าเป็นเรา หรือ ตัวเราอยู่ชั่วคราวเท่านั้น
ส่วน “ธาตุรู้” เดี่ยว ๆ ที่ไม่มีอวิชชาและธาตุอื่น ๆ ผสมนั้น เป็นธาตุรู้ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ เป็นวิสังขาร ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปพรรณสัณฐานใด เป็นเหมือนกับความว่างของอากาศหรืออวกาศ ต่างกันที่ธาตุรู้ ที่ไม่มีอวิชชาและธาตุอื่น ๆ ผสมปนอยู่ เขามีความรู้ประจำธาตุของเขาเอง ไม่ต้องพึ่งพาความรู้จากขันธ์ห้า
มีชื่อสมมติเรียกตามคุณสมบัติของธาตุรู้ที่บริสุทธิ์นี้ต่าง ๆ กัน เช่น ธรรมธาตุ อสังขตธาตุ อสังขตธรรม สุญญตาธาตุ มหาสุญญตาธาตุ นิพพานธาตุ ใจ หรือ จิตเดิมแท้ พุทธะ พุทโธ... ฯลฯ
ซึ่งมีคุณสมบัติปกติตามธรรมชาติ คือ ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มีปฏิกริยา ไม่ใช่สิ่งปรุงแต่ง จึงไม่อาจคิดหรือปรุงแต่งแสดงอาการใดได้ ไม่มีการไป การมา ไม่เคลื่อนไหว ไม่กระเพื่อม ไม่ได้มีขึ้นเพราะการเกิด และดับไปเพราะการตาย ไม่อาจถูกทำลายได้ ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ (ความว่าง) ไม่ใช่อรูปฌาน
ให้อยู่กับธรรมธาตุนี้ กินอยู่กับธรรมธาตุ ไปไหนก็ไปกับธรรมธาตุ และตายไปกับธรรมธาตุ โดยไม่มีผู้ยึดถือธรรมธาตุ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
21 กุมภาพันธ์ 2562