หลวงตา : หลงความคิด หลงความปรุงแต่ง เอาความคิดความปรุงแต่งมาสร้างเป็นตัวตน สร้างเป็นเรา เป็นตัวเราเป็นตัวตนของเรา
ไม่ได้หลงอะไรเลย หลงความคิดปรุงแต่งของตัวเองมาหลอกลวงเรา แล้วเราหลงไปตามมัน
ที่ท่านเปรียบเหมือนว่า เราเดินไปเนี่ย เอ้ย … เห็นรำไร ๆ งู! งูๆ
เลยตกใจมากเลย กลัวมากเลย เป็นทุกข์กับมันมากเลย ... งู!
แต่พอเราไปเอาไฟฉายมาฉาย อ้าว… มันไม่ใช่งู มันเป็นเชือก ใครมาทำเชือกร่วงไว้
แค่นั้นแหละ ... ไอ้ “อวิชชา” เนี่ยที่เห็นเชือกเป็นงูเนี่ย… มันหายไปเลย
แต่ไม่ได้ว่าไปทำลายเชือกให้มันหมดไป
เพราะฉะนั้นน่ะ ความที่หลงว่าเชือกเป็นงูเนี่ย ความที่หลงว่า "ขันธ์ห้า" รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ คือความว่าง
และก็ “ธาตุรู้” ที่เป็นเหมือนความว่างมีแต่ความรู้เนี่ย มันมารวมกัน ก็เพราะว่า ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุอากาศ และ ธาตุรู้ หรือ ขันธ์ห้าเนี่ย เปรียบเหมือนเป็นเชือก ที่เราเห็นรำไร ๆ แล้วหลงว่ามันเป็นงู
แล้วไม่ใช่ว่าต้องไปทำลายมัน ความเป็นตัวตนน่ะ
เพราะว่ามันมีแต่ความหลงเข้าใจผิด ว่าเชือกนี้เป็นงู
พอมีแสงสว่าง คือ มี "ปัญญา"สว่างจ้าขึ้นมา
มันก็เลยเห็นว่าเชือกเนี่ย...ไม่ใช่งู
มันทำลาย "อวิชชา" คือ ความโง่อย่างเดียว
ไม่ใช่ไปทำลายงู! ไม่ใช่ไปทำลายความเป็น "ตัวตน"!
โยม : แสดงที่ว่าเราเห็นว่างู ก็ความว่า ให้ความหมายเค้าเป็นงู ... ที่แท้เค้าไม่มีอะไรเป็นอะไรเลย
หลวงตา : ถูกต้องเลย … ไม่มีใครต้องทำลายอะไรใคร
เปลี่ยนจากความเข้าใจผิด เป็นเข้าใจถูก"ตามความเป็นจริง"
เพราะมี “ปัญญา” คือ แสงสว่าง
จึงมองเห็นว่ามันเป็นเชือก แท้จริงไม่ใช่งู
แค่นั้นแหละ ความหลงยึดถือมันก็หมดสิ้นไป
ใจมันก็ "สงบจากความทุกข์ "
ไม่มีใครทุกข์ จึงไม่มีใครต้องออกจากทุกข์
ส่วนขันธ์ห้ามันก็เป็นเรื่อง "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ของมันไป มีสุขมีทุกข์ไปตามเรื่องราวของมัน
แต่ไม่มีใครทุกข์ ไม่มีใครสุข มันก็คงเป็นของมันอยู่อย่างงั้นแหละ
เหมือนเชือกมันก็คงเป็นเชือก มันไม่ใช่งู
“ขันธ์ห้า” มันก็ไม่ใช่เรา
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
มันก็คงเป็นอยู่ของมันเช่นนั้นแหละ
ไม่มีใครต้องทำลายใคร
ไม่มีใครต้องไปทำลายความเป็นตัวตน
มีแต่ปัญญาที่เป็นแสงสว่างขึ้นมาในใจตน
"หายโง่" สิ้นยึดถือขันธ์ห้านี้
ว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเราแค่นั้นแหละ
ไม่มีใครไปทำลายความเป็นตัวตนได้
เพราะความเป็นตัวตนไม่ได้มีอยู่จริง !
อีกกรณีหนึ่ง พวกเราเนี่ยเข้ามาในสถานที่ปฏิบัติธรรม ในเวลากลางวันเนี่ย เราก็จะไม่กลัวอะไร เราก็เดินไปมาได้ เดินไปไหนมาไหนได้หมด
พอตกกลางคืนน่ะ เรากลัวผี ตกกลางคืนเรากลัวผี เราไม่กล้าเดินออกไปนะ เราไม่กล้าเดินออกไปใต้ต้นโพธิ์ เรากลัวผี
พอถึงกลางวันน่ะ เราหายกลัว เราต้องฆ่าผี คือ ความเป็นตัวตนของผี
ผีก็คือใจเราเนี่ย ที่มันสร้างความเป็นตัวตนไว้ คือ “ผีตัวเรา” นี่แหละเราต้องฆ่าผีให้ตาย หรือว่าเราฆ่าอะไรล่ะ พอตกกลางวันเราจึงหายกลัวผี
ฆ่าอะไรไป…? ลองตอบตรงนี้ซิ
เราฆ่าผีตายจึงหายกลัว
ฆ่าตัวตนของเราไป ตายไปจึงสิ้นความเป็นตัวตน
หรือ ฆ่าอะไรไป… ? จึงหายกลัวผี
โยม : ฆ่าตัวเรา
หลวงตา : ฆ่า "ความหลงผิด"! หลงเข้าใจผิด!
นั่นแหละเค้าเรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ” ความเห็นผิด
ความหลงผิด เปลี่ยนเป็น “สัมมาทิฏฐิ”แค่นั้นเอง ... แค่นั้นแหละ
เมื่อฆ่าความเห็นผิด ความทุกข์ความเดือดร้อน ที่ดิ้นรนทะยานอยาก มายาวนาน ว่าจะมีตัวเราออกไปจากอะไร มีตัวเราติดอยู่ในอะไร
แท้จริงเมื่อเข้าใจว่าตัวเราที่แท้จริงไม่มี
มีแต่สิ้นอายุขัยเมื่อไหร่ก็ดับหมด
แค่นั้นแหละ จึงไม่มีใครต้องออกจากกรงแห่งความทุกข์
และไม่มีใครที่ติดอยู่ในกรงของความทุกข์
แท้จริงกรงขัง หรือ วัฏฏะสงสารแห่งความทุกข์
และ "ตัวเรา" ที่ติดอยู่ในกรงนั้นก็ไม่มี
ไม่มีอยู่จริง!
โยม : เมื่อไม่มีเราไปอยู่ในกรงนั้น มันก็จบแค่นั้น
หลวงตา : สาธุ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากไฟล์เสียง
190118B-1 แสงสว่างแห่งปัญญา
18 กุมภาพันธ์ 2562
ฟังจากยูทูป :
https://youtu.be/5jr7-PSq19I