แยกรูปถอดจิตปรุงแต่ง คือ รู้เห็นด้วยใจว่า ความรู้สึกว่าตัวเราเป็นผู้รู้ ไม่ไปรวมกับจิตปรุงแต่ง
แล้วจะมีความรู้สึกว่าเราเบา สบาย ว่างเปล่า เพราะไม่ติดจมอยู่ในจิตปรุงแต่ง ซึ่งเป็นความคิดและอารมณ์ ให้เป็นทุกข์
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความรู้สึกว่า “เราหรือตัวเราหรือจิตใจของเราว่างเปล่า”
รู้เห็นด้วยใจจริง ๆ ว่า ความคิดหรือความรู้สึกว่า “เราหรือตัวเราหรือจิตใจของเราว่างเปล่า” นั้น เป็นเพียงสังขาร คือ ความปรุงแต่ง เป็นสมมติ เป็นมายา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่หลงยึดถือสังขาร หรือ ความคิดปรุงแต่งนั้น
จึงเป็นความรู้ที่ออกมาจากใจที่ว่างเปล่าหรือ สุญญตา
ไม่ได้เป็นผู้รู้หรือความรู้ที่ออกมาจากอัตตาตัวตนของเรา หรือ มีตัวเราเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป แต่ผู้รู้หรือความรู้ออกมาจากใจที่ว่างเปล่า ซึ่งไม่หลงไปปรุงแต่งยึดถือได้อีกต่อไป
เมื่อใจถึงความว่าง และความรู้ก็ออกมาจากใจที่ว่างเปล่า จึงเป็นความรู้ที่สิ้นผู้เสวย หรือสิ้นผู้หลงยึดมั่นถือมั่น ไม่มีผู้เสวยหรือผู้หลงยึดมั่นแม้แต่น้อยหนึ่ง นิดหนึ่งหรือ สักปรมาณูหนึ่ง
เมื่อสิ้นผู้หลงยึดถือ ก็สิ้น “อวิชชา” ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ คือ ปฏิสนธิวิญญาณที่จะก่อภพชาติขึ้นมาห่อหุ้มกระบวนการทำงานของขันธ์ห้า ก็ดับสนิท พร้อมกับความทุกข์ทั้งมวลก็ดับพร้อม
นี่แหละเป็นการถอดรูปปรมาณูวิญญาณ ที่ห่อหุ้มใจหรือจิตเดิมแท้ ไปเกิดมาหลายภพชาติ ก็ดับสนิทลง คงเหลือแต่ใจหรือจิตเดิมแท้ หรือธรรมธาตุ หรือ ธาตุรู้ที่มีความรู้พุทธะ คือ รู้จริง รู้แจ้ง รู้สิ้นหลง รู้สิ้นยึด รู้พ้น รู้ตื่น รู้เบิกบาน ไปรวมกับความว่างของจักรวาลเดิม
“อวิชชา” เปรียบเหมือนกับเปลือกของข้าวเปลือก เมื่อได้ถูกขัดสีเปลือกออกหมด จนเหลือแต่ข้าวสารขาว เปรียบเหมือนใจหรือจิตเดิมแท้ ย่อมปลูกไม่ขึ้นอีกต่อไป
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2561