โยม : กราบเรียนหลวงตา
ส่งการบ้านเรื่องสมถะเจ้าค่ะ ลูกสังเกตว่าในการเริ่มต้นแต่ละครั้ง มันเริ่มต้นด้วยการรู้ลมหายใจเข้าออกจริง
แต่อาการของสมาธิที่เกิดขึ้นมันไม่เคยเหมือนเดิมเลย บางครั้งหนาวขนลุกชัน บางครั้งเป็นเย็น ๆ ตรงคอ-บ่า บางครั้งเบามากเหมือนตัวพองออก บางครั้งเหมือนตัวยืดยาวออกไปได้ หรือพองดันออกทุกทิศทาง
แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นไม่มีใครไปอะไร ๆ กับสิ่งเหล่านั้น มันจะต่างจากเดิมที่มันมีใจไปอะไร ๆ กับสภาวะที่เกิด
แต่อันนี้มันอยู่ตรงกลาง คือ ชัดและตั้งมั่นในการรู้... ไม่ไหลตามและไม่เพ่งเจ้าค่ะ
และสังเกตอีกอย่าง คือ รู้ยังไงก็ตาม จนถึงลมหายใจดับ... สภาวะดับ... นิ่ง รู้ สว่าง ว่าง แต่ผู้รู้ผู้พูดกลับไม่ได้ดับไปด้วย ยังมีปรากฏอยู่ แต่มันปรากฏเหมือนน้ำมัน ที่แยกชั้นกับน้ำ คือ มันไม่ได้เข้ามารวมในใจ มันก็พูดพากษ์ของมันไปอย่างนั้นเองแต่ใจไม่ได้เป็นสิ่งนั้น มันเกิดดับเป็นหยดน้ำบนใบบัวจริง ๆ
เลยเทียบเคียงว่า อันนี้เป็น "อุเบกขา" คือ ความเป็นกลางต่อสภาวะทั้งหมดที่เป็นสังขาร โดยเฉพาะ "สังขารจิต" และ "สังขารผู้รู้" ใช่ไหมเจ้าคะ แต่มันจะเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุ คือ สมาธิ
มันจึงอาจจะไม่ได้ถาวรและเสื่อมได้ ต่างจาก "อุเบกขาสัมโพชฌงค์" ที่เกิดจากปัญญาเป็น "ธัมมวิจยะ" ไปเรื่อย ๆ จนถึงโพชฌงค์ตัวสุดท้าย คือ อุเบกขา... คือ "นิพพาน"
เลยสอบถามความเข้าใจกับหลวงตาอีกครั้งเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดเจ้าค่ะ
แต่ถึงจะอุเบกขาจากสมาธิก็ตามแต่มันก็พลิกเป็นปัญญาได้ เพราะมันพลิกเห็นได้ว่าผู้รู้ไม่ใช่เรา ผู้พูดผู้พากษ์เป็นเพียงกระแสที่พัดผ่านไปมาเท่านั้น และมันเห็นชัดกว่าตอนที่เดินจิตเห็นจิตเสียด้วยซ้ำ เพราะมันเห็นจิตผู้รู้ราวกับตาเห็นรูปเลย
แต่ต้องพลิกเป็น คือ พลิกจากรู้ด้วย "สติสัมปชัญญะ" เป็นรู้ด้วยมุมมองของปัญญา
เครื่องมือ 2 อันนี้รู้เหมือนกันแต่ต่างกันนิดหน่อยในสภาวะจิต
ลูกรู้สึกว่าเส้นทางที่เดิน สังสารวัฏ-สังขาร-สมาธิ-ปัญญา มันเป็นเส้นทางที่ยอกย้อนและวนไปวนมา เดี๋ยวเดินทางนี้แล้วก็กลับไปทางนั้น เดี๋ยวกลับสู่การเดินสมาธิ เดี๋ยวพลิกกลับเป็นปัญญา เดี๋ยวกลับไปเห็นความสลดสังเวชโลก วนไปแบบนี้เจ้าค่ะ แต่มันก็ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
กราบ กราบ กราบ
หลวงตา : สาธุ
“พุทธศาสนา” เป็นประสบการณ์ตรงที่ได้รับการชี้แนะอบรมสั่งสอนมาจากพระพุทธเจ้า และ พระอริยสงฆ์ จนรู้แจ้งออกมาจากใจจริง ๆ ไม่ใช่เกิดจากสัญญาที่เล่าเรียนเขียนอ่านท่องจำได้ แล้วจำเอามาพูดบอกสอนต่อกัน
เมื่อจำคำสอน (ปริยัติ) ได้แล้วจะต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดผลขึ้นจริงแก่ใจจนกว่าจะสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น สิ้นกิเลสตัณหาและความทุกข์
ต้องค่อย ๆ สังเกตเรียนรู้ด้วย สติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ขันติ จากประสบการณ์จริง ก็จะทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเข้าใจแจ่มแจ้งถึงใจมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วนำไปชี้แนะบอกสอนจากประสบการณ์จริง ๆ จึงจะได้ชื่อว่ารักตน รักผู้อื่น เมตตาตน เมตตาผู้อื่น ตอบแทนคุณของ พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้
โยม : กราบสาธุเจ้าค่ะหลวงตา
ลูกเห็นด้วยว่าความละเอียดในระดับเดิม มันถูกตีแผ่ออกมาหมดแล้วในทุกแง่มุม ทั้งเส้นทางการปฏิบัติ "มรรค" และ "นอกมรรค" รวมถึงสภาวะที่เกิดผลในการปฏิบัติเบื้องต้นจากการที่หลวงตาเมตตาขยายความจากธรรมะที่ลูกศิษย์ส่งการบ้าน คือ ความเข้าใจหมดเกลี้ยงแล้วเจ้าค่ะ
เลยจากนี้ไป คือ ธรรมที่จะปรากฏเป็นการต่อยอดจากการปฏิบัติแล้วเท่านั้น
ถ้าไม่มีคนเป็นธรรมจริง ๆ โดยชัดเจนถึงที่สุดสักคนหนึ่ง "หนังสือที่สุดแห่งธรรม" มันจะไม่อาจส่งต่อได้โดยสมบูรณ์ ใช่ไหมเจ้าคะหลวงตา
หลวงตา : Confirm (ตอบด้วยสติ๊กเกอร์ หมายถึง ยืนยันตามนั้น)
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
16 ตุลาคม 2563
ติดตามสื่อธรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้าใจถึงใจเพิ่มเติม
ประชาสัมพันธ์สื่อธรรม : ไฟล์เสียงและสื่อธรรม ชุด สมาธิ ฌาน ญาณ (สมถะ วิปัสสนา)
http://www.luangtanarongsak.org/home/index.php/2017-10-14-13-20-39/2020-02-06-08-06-17/item/6070-10-oct19-63-dama-info-46
ประชาสัมพันธ์สื่อธรรม : ไฟล์เสียงและสื่อธรรม ชุด ธรรมอันเป็นที่สุด
http://www.luangtanarongsak.org/home/index.php/2017-10-14-13-20-39/2020-02-06-08-06-17/item/6071-10-oct19-63-dama-info-47
~~~~~~~~~~~~~~~