โยม 1 : สังขารปรุงแต่ง... ไม่ว่าจะเป็น “สังขารตัวเรา” หรือ “สังขารนอกตัวเรา” ล้วนเกิดดับ... เกิดดับ เหมือน “ภาพมายา”
รูป เปรียบเหมือน... ฟองน้ำ
เวทนา เปรียบเหมือน... ต่อมน้ำ
สัญญา เปรียบเหมือน... พยับแดด
สังขาร เปรียบเหมือน... แก่นต้นกล้วย คือ ความว่างเปล่า
วิญญาณ เปรียบเหมือน... มายากล
ขันธ์ห้าทั้งรูปและนามนี้ เป็น “ของปรุงแต่ง” ขึ้นมา หาสาระมิได้
ความจริง คือ สรรพสิ่งล้วนเสมือนหนึ่งมีอยู่จริง แต่จริง ๆ แล้ว “ไม่มี”
แม้ปฏิกิริยาความสั่นสะเทือนจากภายในมันจะรุนแรงแค่ไหน มันก็เป็นเพียงแค่เปลือกนอก.. เหมือนลอกหยวกกล้วยออกทีละชั้น ๆ จนเหลือถึงด้านในสุด... ที่สุดของสังขาร คือ ความว่างเปล่า ที่ไม่อาจถูกกระทบได้ มันคือ “ใจที่ได้แต่รู้”
รอบรู้ในกองสังขาร คือ รู้ว่า... ทุกสิ่งที่หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง ดับแล้วเกิด เกิดแล้วดับ ล้วนเป็นของไม่เที่ยง ไม่ขึ้นกับกาลทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ต่อให้รู้แจ้งความจริงนี้ถึงใจ ก็ไม่ทำให้ “สัจธรรมความจริง” นี้เปลี่ยนแปลง
จุดพอดี... จุดที่ไม่หวั่นไหว จุดที่ไร้กิริยาของจิตอวิชชาปรุงแต่ง.. “รู้แจ้งในกองสังขาร ละอุปาทานขันธ์ทั้งห้า”
จุดที่ “รู้เท่าทัน” ยังเป็นกิริยาจิต
จุดที่ “รู้” เท่านั้นแหละ... พ้นจากกิริยา และ พ้นจากทุกข์
(กราบ) (กราบ) (กราบ)
หลวงตา :
“จุดพอดี”
“จุดที่”รู้”
เป็นอวิชชา
โยม 1 : "ญาณ" ตามหลัง "ธรรม"
หลุดแล้วค่อย "รู้"
ถ้า "รู้อยู่" ไม่หลุด
เมื่อยังมี "จุด" หรือ "ต่อม" แห่งผู้รู้, ผู้สำคัญว่ารู้, ผู้สำคัญว่าพอดี
มันยังสำคัญว่า จิตผู้รู้อันละเอียดนั้นเป็นเรา มันจึงยังไม่หลุดจาก "จิตอวิชชา" เพราะมันสงวนรักษาตัวเองไว้ให้บริสุทธิ์
จิตที่ดับ คือ จิตอวิชชา แต่ "รู้" ว่าจิตอวิชชาดับไป คือ ไม่ดับ... แต่ขณะจิตที่อวิชชาดับนั้นเหมือน "ไม่รู้" เพราะสิ้นกิริยา แต่ "ญาณ" ที่ตามหลังมา คือ สิ้นสงสัยไปเอง
ยิ่งอ่านยิ่งเข้าใจถึงใจยิ่งขึ้น น้อมกราบในธรรมหลวงปู่หล้า - หลวงตามหาบัว
โอวาทธรรมหลวงปู่หล้า (บางส่วน) :
...พระนิพพานก็เป็นพระนิพพานตามสมมติ แต่รสธรรมของพระนิพพานนั้นไม่ใช่สมมติเสียแล้ว...
...อย่าสำคัญตนเป็นไตรลักษณ์
อย่าสำคัญไตรลักษณ์เป็นตนก็ดี
อย่าสำคัญตนเป็นจิตอย่าสำคัญจิตเป็นตนก็ดี อย่าสำคัญตนเป็นขันธ์ห้า ขันธ์ห้าเป็นตนก็ดี
สิ่งทั้งหลายมันลงไปรวมอยู่ที่ใจ และผู้รู้เป็นต้น ไม่สำคัญผู้รู้...
...ผู้รู้จักไตรลักษณ์ตามเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นอนัตตาธรรมชั้นสูง
โอวาทธรรมหลวงตามหาบัว (เรื่อง ถ้า "มีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้" อยู่ที่ไหน” นั้นแลคือ “ตัวภพ”) คัดมาบางส่วน :
“จิตที่บริสุทธิ์” นั้นจะ “ไม่ดับ”
“ทุกสิ่งทุกอย่างดับไป”
แต่ “ผู้ที่รู้ว่าดับ” นั้น “ไม่ดับ”
(กราบ) (กราบ) (กราบ)
~~~~~~~~~~~~~
โยม 1 : จากโอวาทธรรมองค์หลวงปู่เทสก์
"... ผู้มาพิจารณาเห็นขันธ์มีอุปมาดังแสดงมาแล้วนี้ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันชอบด้วยตนเองแล้ว จะไม่หลงเข้าไปยึดเอาขันธ์มาเป็นอัตตาหรืออนัตตา..."
คำว่า "อัตตา" และ "อนัตตา" ล้วนเป็นสัจจะในตัวมันเอง... ขันธ์ห้าเป็นได้ทั้งอัตตา และ อนัตตา หากสมมุติว่า "มีเรา" หรือ "ไม่มีเรา" อยู่ในสัจจะนั้นใช่มั้ยเจ้าคะ
ความรู้แจ้งคือ รู้เห็นตามความเป็นจริงของ "สัจจะ" นั้น จนสิ้นความหลงยึดถือทั้งอัตตา และ อนัตตา ปล่อยให้ความจริงเป็นความจริงอยู่เช่นนั้นเอง
กราบขอโอกาสหลวงตาเมตตาชี้แนะเจ้าค่ะ (กราบ) (กราบ) (กราบ)
หลวงตา : พ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพนับถือทั้งหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงปู่หล้า เขมปัตโต และหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านหลุดพ้นกันหมดแล้ว
แต่ผู้นำธรรมขององค์ท่านมาโพสต์นี้
***** ยังมีความรู้สึกแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในใจ ซึ่งเป็น “อวิชชา” คือ
ท่านนิพพานแล้ว แต่ “เรา” ยังไม่นิพพาน
ท่านหลุดพ้นแล้ว แต่ “เรา” ยังไม่หลุดพ้น
“เรา” เข้าใจชัดเจนแล้ว แต่ “เรา” ยังไม่หลุดพ้น
“เรา” จะหลุดพ้นเหมือนพ่อแม่ครูอาจารย์
*****มันมีเรา.... เรา .... เรา ....ๆ ๆ ๆ ๆ ........ ที่จะหลุดพ้น ที่จะนิพพาน ที่จะพ้นทุกข์
โยม 1 : เข้าใจแล้วเจ้าค่ะ... เมื่อ "เรา" ถูกรู้เท่าทัน มันจึงสิ้นฤทธิ์ของ "ความปรุงแต่งเป็นเรา" ไป
อวิชชาที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจจะถูกรู้ได้โดยอาศัยสังเกตกิริยาที่แสดงออกที่ผลักดันจากความเป็น "เรา" มันย่อมซ่อนเร้นจากสายตาของพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ได้ จับโจรได้คาหนังคาเขาเลยเจ้าค่ะ
ความฟุ้งซ่านในธรรม ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากบรรลุ อยากสำเร็จ ความเข้าใจอันละเอียด และความยึดอันละเอียดใน "สังขารผู้รู้" บังธรรมแท้... กระบวนการตลบหลัง ยอกย้อนในมายาของสังขาร
กราบขอบพระคุณองค์หลวงตาที่เมตตากระทุ้งเปลือกอวิชชาให้ตาสว่างเจ้าค่ะ (กราบ) (กราบ) (กราบ)
โยม 1 : การอ่านธรรม อ้างอิงธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ นำมาน้อมเพื่อพิจารณาให้เห็นความจริง ให้เป็นจริงที่ใจตน ไม่ใช่เพื่อ "ยึด" ธรรมนั้นมาเป็นของเรา เพื่อตัวเรา เพื่อให้เรานิพพาน อันนี้เป็นกิเลสจากความเห็นผิดแท้ ๆ
แต่กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน มันอดไม่ได้ที่จะปรุงแต่งเป็น "ความฟุ้งซ่านในธรรม" หากอาสวะอนุสัยนี้ไม่ถูกรู้เท่าทัน มันจะครอบงำอยู่ใน "ความเป็นเรา" ตลอดนะเจ้าคะ
กราบขอบพระคุณองค์หลวงตาที่เมตตาชี้แนะตลอดมาเจ้าค่ะ (กราบ) (กราบ) (กราบ)
หลวงตา : สาธุ
~~~~~~~~~~~~~
โยม 2 : (อ้างอิงข้อความองค์หลวงตา)
หลวงตา : พ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพนับถือทั้งหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงปู่หล้า เขมปัตโต และหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านหลุดพ้นกันหมดแล้ว
แต่ผู้นำธรรมขององค์ท่านมาโพสต์นี้
***** ยังมีความรู้สึกแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในใจ ซึ่งเป็น “อวิชชา” คือ
“ท่านนิพพานแล้ว แต่ “เรา” ยังไม่นิพพาน
ท่านหลุดพ้นแล้ว แต่ “เรา”ยังไม่หลุดพ้น
“เรา” เข้าใจชัดเจนแล้ว แต่ “เรา” ยังไม่หลุดพ้น
“เรา” จะหลุดพ้นเหมือนพ่อแม่ครูอาจารย์
*****มันมีเรา.... เรา .... เรา ....ๆๆๆๆ........ ที่จะหลุดพ้น ที่จะนิพพาน ที่จะพ้นทุกข์
กราบสาธุเจ้าค่ะองค์หลวงตา หนูเห็นอันนี้นี่หนูยอมใจองค์หลวงตาเลยเจ้าค่ะ ทุกการขยับขององค์หลวงตานี่สอนลูก ๆ ชี้แนะ ไม่เคยเว้นเลยเจ้าค่ะ อ่านแล้วหนูยิ้มเลยเจ้าค่ะ
พ่อแม่ครูอาจารย์นี่ช่างรู้ใจไปทุกอณูจริง ๆ เจ้า เจ้าค่ะ ซ่อนอะไรไม่เคยพ้นสายตาเลยเจ้าค่ะ เป็นผู้พิพากษาในธรรมของลูก ๆ เลยเจ้าค่ะ น้อมกราบ สาธุ สาธุ สาธุ เจ้าค่ะ
กราบ กราบ กราบ เจ้าค่ะ
หลวงตา : สาธุ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
1-3 ตุลาคม 2562
~~~~~~~~~~~~~~~
หมายเหตุ :
โอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์ตามที่โยม 1 อ้างถึง ประกอบด้วยโอวาทธรรมหลวงปู่หล้า เขมปัตโต, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, โอวาทธรรมพระสารีบุตรสอนพระอนุรุทธะ ดังนี้
1) โอวาทธรรมหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
“หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรมะ” ที่มาจาก : http://www.geocities.com/pralaah/ รายละเอียดดังนี้
คำถาม :
เรื่องฐิติจิตเดิมแท้นั้นหลานเข้าใจดีเพราะเห็นอยู่ทุกวันนี่คือโทษที่หลานไม่รู้จักศัพท์ปริยัติเอง แต่อยากทราบว่าจิตพระนิพพานคือจิตที่มีรสชาติสุขุมเพราะจิตไม่ยึดมั่นจากกิเลสที่ละได้แล้วใช่ไหมครับ ผมคาดเอาจากการปฏิบัติของผม (จิตไม่ยึดในธรรมด้วย)
คำตอบ :
เรื่องฐิติจิต จิตเดิมแท้เป็นจิตล้วนๆ แต่กิเลสมาเกยมาพาดคล้ายๆกับพระอาทิตย์เป็นธรรมชาติเดิม อยู่แต่เมฆหมอกก็คล้ายกับกิเลสนั่นเอง แต่อย่าเข้าใจว่าจิตเป็นพระนิพพาน พระนิพพานเป็นจิต ดังนี้ เพราะเหตุว่าจิตเป็นผู้เคารพพระนิพพาน ไม่ใช่พระนิพพานเคารพจิตใช้เพียงคำว่าจิตหลุดพ้น จากความสกปรกคือกิเลส แต่จิตไม่ใช่พระนิพพาน เหตุนั้นท่านจึงบัญญัติว่า รูป จิต เจตสิกนิพพาน ดังนี้ จะว่าจิตไม่ยึดมั่นในที่ทั้งปวง จะว่าปัญญา และสติไม่ยึดมั่นอันสมดุลย์กันอยู่กับจิต จิตก็ดี สติก็ดี ปัญญาก็ดี เป็นกองทัพธรรมรวมกันอยู่ก็ว่าได้ สิ่งไหนที่บัญญัติว่าจิต และบัญญัติว่าพระนิพพาน จิตกับพระนิพพานไม่ได้แย่งเก้าอี้กัน จิตก็เป็นจิตตามสมมติ
พระนิพพานก็เป็นพระนิพพานตามสมมติ แต่รสธรรมของพระนิพพานนั้นไม่ใช่สมมติเสียแล้ว และก็ใครเป็นผู้เสวยพระนิพพานเล่า จิตเสวยพระนิพพาน หรือพระนิพพานเสวยจิต ก็ต้องตอบให้สมคุณค่าว่า พระนิพพานนั่นเองเสวยรสของพระนิพพาน ไม่ได้เป็นหน้าที่จิตไปแย่งเสวยคำพูดเหล่านี้หลวงปู่ไม่เคยได้ยินท่านผู้ใดพูดให้ฟังดอกมันเกิดขึ้นอัตโนมัติของหลวงปู่นี่เอง แม้หลวงปู่จะมีกิเลสมากเท่าภูเขาก็ตาม แต่อัตโนมัติที่มันรู้ส่วนตัวที่เรียกว่าสันทิฏฐิโก หลวงปู่ลงโอแบบนั้น จะถูกหรือผิดก็ให้พระธรรมเป็นผู้ตัดสิน หลวงปู่ไม่กล้าตัดสินเอง (เดี๋ยวจะตีความหมายว่ามานะทิฏฐิ ถือตัว อุปาทาน)
คำถาม :
ที่หลวงปู่สอนว่าอย่าสำคัญตนเป็นไตรลักษณ์ หรือเป็นลมเข้าลมออก คำว่า "ตน" หมายถึงอะไร หมายถึงจิตใจใช่ไหมเจ้าค่ะ จิตที่พาไปนิพพาน สวรรค์ นรก แล้วแต่ผู้ปฏิบัติดีชั่ว ปล่อยวาง แต่เราไม่ยึดถือจิต ปล่อยไว้เฉยๆ ลูกเข้าใจถูกต้องไหมเจ้าค่ะหลวงปู่
คำตอบ :
อย่าสำคัญตนเป็นไตรลักษณ์ อย่าสำคัญไตรลักษณ์เป็นตนก็ดี อย่าสำคัญตนเป็นจิตอย่าสำคัญจิตเป็นตน ก็ดี อย่าสำคัญตนเป็นขันธ์ 5 ขันธ์ 5 เป็นตนก็ดี สิ่งทั้งหลายมันลงไปรวมอยู่ที่ใจ และผู้รู้เป็นต้นไม่สำคัญผู้รู้ และใจมีตนก็สะดวกดี เพราะสิ่งทั้งหลายมันลงไปรวมอยู่ที่นั้น ถอนรากถอนโคนอันนั้นก็ใช้ได้
คำถาม :
การบำเพ็ญเพียรมีหลักใหญ่ คือฝึกสติสัมปชัญญะ (สติปัฏฐาน 4) พิจารณาลงในพระไตรลักษณ์ แล้วยังมีอะไรอีกครับ
คำตอบ :
คำถามว่า การทำความเพียร มีหลักใหญ่คือสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน 4 พิจารณาลงในพระไตรลักษณ์ กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี พิจารณาลงในไตรลักษณ์ให้เป้าอันเดียวเป็นเชือก 4 เกลียวแล้วให้เข้าใจว่าผู้รู้จักไตรลักษณ์ตามเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เป็นอนัตตาธรรมชั้นสูง "แล้วยังมีอะไรอีกไหมครับ" นั้น
ตอบว่า...ไม่มีอะไรอีก มีแต่พิจารณาเนืองๆ ให้ชำนาญเท่านั้น เพราะเหตุว่าพระบรมศาสดาเทศน์อยู่ 45 พรรษา เราเอามารวมไว้ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ซึ่งปะปนกันอยู่แต่เราก็สามารถแยกออกได้ในเวลาที่ต้องการแยก คือแยกอนัตตาออกจากอนิจจังกับทุกขังซะเพราะเหตุว่ารสชาติของพระนิพพานเป็นอนัตตาธรรมอันเย็นสนิท ไม่ผสมกับอะไรใด ๆ
ด้วยจะเอาอนิจจังกับทุกขังในฝ่ายกองนามรูปไปบวกกับอนัตตาอนุปาทิสสนิพพานที่ดับกิเลสไปด้วยพร้อมเบญจขันธ์ก็ไม่ถูก เป็นมิจฉาทิฏฐิในชั้นอันละเอียด เพราะไม่เป็นหน้าที่จะเอาจิตไปบวกกับอนุปาทิสสนิพพานธรรม ก็เรียกว่าไม่รู้จักฐานะของธรรมเอาธรรม ที่เป็นนามขันธ์ไปบวกกับธรรมอันพ้นจากรูปขันธ์นามขันธ์ไปแล้ว เดี๋ยวก็จะถูกกล่าวตู่ว่าไม่แตกฉานในธรรม ไม่มีปฏิสัมภิทาญาณในตัว
2) โอวาทธรรมหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เรื่อง ถ้า “มีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้” อยู่ที่ไหน นั้นแลคือ “ตัวภพ”
ที่มา : FB พุทธมหาเจดีย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ภูผาแดง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1603043386407945&id=539401609438800
3) โอวาทธรรมหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ส่วนหนึ่งจาก "ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์" เรื่องขันธ์ ๕
แสดงธรรม โดย พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
ที่มา : http://www.nkgen.com/tess804.htm
ที่มาโพส : https://timeline.line.me/post/_df9A9fT_Rv2xk3vB3rw1dMHhgl-EMiEl_lUPj2k/1156998817607062625
4) โอวาทธรรมเรื่องพระสารีบุตรสอนพระอนุรุทธะ เรื่อง ละธรรม ๓ อย่างนี้ (มานะ ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ) แล้วน้อมจิตเข้าสู่ "อมตธาตุ"
ที่มาโพส : https://timeline.line.me/post/_df9A9fT_Rv2xk3vB3rw1dMHhgl-EMiEl_lUPj2k/1156187315307061481