โยม 1 : กราบนมัสการหลวงตาครับ อยากขอความเมตตาหลวงตาครับ ฌาน กับ สมถะ เป็นสายเดียวกันไหมครับ
ถ้าต่าง ๆ แบบไหน สมถะอยู่อารมณ์เดียวเอาเงียบสบาย ฌานมีสติรู้ตามประกบหรือเปล่าครับ ขอความเมตตาด้วยครับ
หลวงตา : “สมถะ” เป็นสมาธิในขั้นอาศัยสติรู้เท่าทันจิตปรุงแต่งไม่ให้หลงส่งจิตออกนอก โดยให้อยู่กับเครื่องล่อจิตอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เช่น คำบริกรรม “พุทโธ” เป็นต้น จนเกิดเป็น
“ขณิกสมาธิ” คือ สมาธิที่มีความสงบได้ไม่นาน
“อุปจารสมาธิ” คือ สมาธิที่มีความสงบได้นานต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
“อัปปนาสมาธิ” เป็นสมาธิระดับ “ฌาน” คือ มีความสงบต่อเนื่องได้นาน ๆ เกิดจากจิตรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเครื่องล่อจิต
“ฌาน” เป็นสมาธิระดับสูง
“ญาณ” คือ มีสติ สมาธิ ปัญญารวมเป็นหนึ่งเดียวที่ใจ รู้แจ้งจากใจว่า
“สัพเพ สังขารา อนิจจา”
สังขาร คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็น อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง
“สัพเพ สังขารา ทุกขา”
เป็นทุกข์ หรือ ทุกขัง คือ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ต้องแก่ เจ็บ ตาย
“สัพเพ ธัมมา อนัตตา”
คือ ธรรมชาติที่เป็น “สังขาร” และ “วิสังขาร” เป็นอนัตตา
คือ ธรรมชาติของสังขาร ต้องเป็นอนิจจัง ทุกขัง เป็นธรรมดา ไม่มีผู้ใดอาจบังคับไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้ ไม่ใช่ตัวตนคงที่ จึงไม่ได้เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา
ธรรมชาติของ “วิสังขาร” ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่เป็นสังขาร
คือ ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ
ไม่มีตัวตนรูปร่าง ไม่ปรากฏอะไรขึ้นมา
ไม่มีสัญลักษณ์ ไม่มีจุดหมาย
ไม่มีต่อม ไม่มีที่ตั้ง
ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดนิ่ง
ไม่มืด และ ไม่สว่าง
ไม่มีความใหญ่ เล็ก กว้าง แคบ สูง หรือ ลึก
ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ
ไม่ใช่ฌาน หรือ อรูปฌาน
ไม่ตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง
เมื่อธรรมชาติของ “วิสังขาร” เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมา ไม่มีอาการ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน จึงเป็น “อนัตตา” ไม่ได้เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา
เมื่อเกิดปัญญาวิมุตติ หรือ วิมุตติญาณทัสสนะ คือ เกิดปัญญามีความรู้ความเห็นแจ้งประจักษ์แก่ใจในสัจธรรมความจริงดังกล่าว ก็จะสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นทั้งสังขารและวิสังขาร ว่าเป็นตัวตนของเรา หรือ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
สิ้นหลงยึดมั่นถือมั่น ก็สิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน... พ้นทุกข์ (นิพพาน)
~~~~~~~~~~~~~
โยม 2 : "ฌาน" คือสิ่งที่ถูกรู้โดย "ญาณ" ด้วยใช่ไหมคะหลวงตา
หลวงตา : “ฌาน” คือ สิ่งที่ถูกรู้แจ้งถึงใจ (ญาณ) ว่า
แม้แต่ฌานก็ตกอยู่ในสัจธรรม คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
~~~~~~~~~~~~~
โยม 3 : ญาณ = การรู้และเข้าถึงใจเรื่อง สังขารและวิสังขาร โดยที่ไม่มีผู้ยึดถือ
หนูเข้าใจถูกมั้ยคะหลวงตา
ส่วน ฌาน = ยังเป็นสังขารอยู่
หลวงตา : สาธุ ถูกต้องแล้ว
~~~~~~~~~~~~~
โยม 4 : ถ้าเราเห็นสิ่งทุกสิ่งว่าเป็นของไม่เที่ยง แล้วก็น้อมมาพิจารณาตัวเราว่ามันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันอันนี้เรียกว่า ญาณ ใช่หรือเปล่าคะหลวงตา
หลวงตา : ถูกแล้ว
~~~~~~~~~~~~~
โยม 5 : หากตายไปขณะอยู่ในอรูปฌาน เป็นอรูปพรหม คือนิพพานพรหม ที่องค์หลวงตาว่า (ฉิบหายใหญ่) มีอายุยาวนานเป็น 500 กัป !!! ไม่รู้ว่าผ่านไปกี่พระพุทธเจ้านะเจ้าคะ องค์หลวงตา... สาธุ... น้อมกราบ กราบ กราบ
หลวงตา : สาธุ
~~~~~~~~~~~~~
โยม 6 : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ โยมขอส่งการบ้านดังนี้ค่ะ ทั้งฌานและญาณ ล้วนอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ล้วนมีความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และบังคับไม่ได้ ไม่มีตัวเราเป็นเจ้าของ
หลวงตา : สาธุ
~~~~~~~~~~~~~
โยม 7 : กราบค่ะหลวงตา สำหรับข้อธรรมที่ยาวมาก ๆๆๆๆๆ ค่ะ
เป็น 2 คำภาษาไทยที่ยากสำหรับหนูมากค่ะ ต้องหาวิธีไม่ทำให้ตัวเองไม่งงเองเวลาเขียนค่ะ
- ฌาน (นอกชาน = ยืนพักสูดอากาศ = เพื่อสงบ ได้สติ )
- ญาณ (ยานอวกาศ = พาไปนอกโลก = สู่อิสรภาพที่แท้จริง)
ในการปฏิบัติของหนูนะคะ หนูอาจไม่ทราบลำดับขั้นนะคะหลวงตา (กราบขอโทษนะคะ)
หนูแค่ทราบว่าพอถึงช่วงที่จิตรวมลงสงบลึกมาก จนลมหายใจละเอียดถึงดับไปเลยค่ะ (เหมือนไม่มีลมหายใจค่ะ)
หนูก็พิจารณาเห็นรู้ตามอาการของลมหายใจที่ดับค่ะ เห็นความไม่เที่ยงของมันเลยค่ะ ชัดมากค่ะว่าลมหายใจก็ไม่ใช่เราค่ะ ควบคุมอะไรไม่ได้ค่ะ เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป เดี๋ยวละเอียด เดี๋ยวหยาบค่ะ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับค่ะ เห็นแบบที่ธรรมชาติเป็นเลยค่ะ
อธิบายยังไงดีคะ เหมือนยืนมองทะเลค่ะ เห็นคลื่นกระทบฝั่ง ได้ยินเสียงคลื่น รับรู้ทุกอย่างแบบที่มันเป็นอ่ะค่ะ รู้ไปเรื่อย ๆ ค่ะ
มันจะทราบของมันเองเลยค่ะ มันไม่ใช่เรา ไม่มีเราในกระบวนการเลยค่ะ
ธรรมชาติเป็นแบบนั้น แสดงให้เห็นทุกอย่างตามที่เขาเป็น
เมื่อ “ยอมรับและเข้าใจว่ามันเป็นแบบนั้นเอง” และเป็น “หนึ่งเดียวกับธรรมชาตินั้น” การปล่อยวางที่แท้จริงเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติค่ะ เพราะมันรู้ของมันเองว่ามันเป็นธรรมชาติของมันแบบนั้นและเป็นเช่นนั้นค่ะ
(กราบขอโทษค่ะ ถ้าหนูทำให้หลวงตาต้องงง เอาสิ่งที่รู้ในใจออกมานี้ยากจริงจัง ค่ะหลวงตา)
หนูว่า “ญาณ” เกิดเองจากความแจ้งในความจริงของธรรมชาตินั้น ๆ เลยค่ะ ไม่ใช่จากการรู้จำ รู้เรียนแล้วเอามาตั้งเพื่อใช้ในการปฏิบัติ
เพราะถ้าแบบนี้จะเป็นการใช้ทางโลกมาปฏิบัติธรรมค่ะ ตั้งทฤษฎี ประมวลค่าหาความเป็นเหตุผล สืบค้น คาดคะเน กำหนดเทียบค่าเดิม
ทางธรรม ต้องแบบหลวงปู่ชาสอนเลยค่ะ “นอกเหตุ เหนือผล” จริง ๆ ค่ะ
มันจะมา จะไปเกิด จะเกิด เวลาไหน อย่างไร บอกไม่ได้เลยค่ะ (เหมือนฟ้าร้อง ฝนตก น้ำท่วมเลยค่ะ ใครจะบอกได้ค่ะ อย่างมากก็คะเนแต่ไม่มีทาง 100% ค่ะ)
ที่เคยมา เคยเกิด เคยเป็น ก็อาจจะไม่เป็นเหมือนเดิมค่ะ แม้นแต่ธรรมที่แจ้งในแต่ละครั้ง ก็ต้องจบลงไปเลยค่ะ (ต้องอยู่กับปัจจุบันจริง ๆ ค่ะ แบบให้ได้ตลอดด้วยค่ะ)
ไม่งั้นกิเลสเล่นงานต่อค่ะ เพราะเข้าใจว่าเรารู้แบบนี้ ๆ เดี๋ยวต้องใช้แบบนี้ ๆ ปฏิบัติต่อ โลกมาเลยค่ะ
เสร็จเขาค่ะ เพราะมันจบไปแล้ว ธรรมเองถึงไม่เที่ยงด้วย ใชไหมคะ
แนบสนิทติดใจหนูตลอดเลยค่ะ คำหลวงตาสอนว่า “ไม่ประมาทในกิเลส ไม่ประมาทในธรรม” นะ (ไม่แปลกใจแล้วค่ะว่า ทำไมประโยคนี้หลวงตาสอนตั้งแต่แรก ๆ เลยค่ะ แถมแอบย้ำมาเรื่อย ๆ ค่ะ เป็นประโยคที่ดูเหมือนธรรมดาเข้าใจได้ง่าย ไม่น่ามีอะไรแต่จริง ๆ ลึกซึ้งมากค่ะ (คูณ ล้าน ยกกำลัง ล้าน เลยค่ะ) แถมเป็นอาวุธสำคัญด้วยค่ะ
กราบหลวงตาในความเมตตาที่ใส่ความพยายาม ใส่ใจ ให้หนูเข้าใจภาคทฤษฎีเรื่อง “ฌาน” และ “ญาณ” หนูอาจไม่ฉลาดพอนะคะหลวงตา ขอโทษนะคะ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
7 กันยายน 2562