หลวงตา : สงบ เงียบ สงัด ว่างเปล่าไปถึงใจ ไม่มีอะไรกะดุกกะดิก ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดอยู่ ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีผู้ยึดถือ
***ไม่ยึดถือแม้แต่ความสงบ... นั้น
นี่แหละ... ที่สุดแห่งทุกข์
เมื่อใดแทงทะลุความดำที่ห่อหุ้มใจไว้ ซึ่งเปรียบเหมือนอวิชชา คือ ความหลงยึดถือ
ก็จะพบ “ใจ” หรือ “ธาตุรู้” ซึ่งมันเป็นความว่างที่มีความรู้ มันรวมอยู่กับความว่างของธาตุอากาศ
ดังนั้น ถ้ายึดถือความว่าง แสดงว่า พึงพอใจ ติดใจ ยินดีความว่างของอากาศ ซึ่งเป็นความว่างที่ไม่มีความรู้
*** แต่ถ้าสักแต่ว่ารู้ความว่าง คือ ไม่แอบหลงยึดถือ คือ ติดใจ พึงพอใจ ยินดีในความว่าง แล้ว ก็จะเป็น “ใจ” หรือ ธาตุรู้
***แต่ถ้ามีความหลงยึดถือ “ใจ” หรือ ธาตุรู้ คือ มีความพยายามสักแต่ว่ารู้ อย่างนี้ เป็นความหลงปรุงแต่งยึดถือ ไม่ได้เป็น “ใจ” หรือธาตุรู้ที่ไม่สังขาร
***ใจหรือจิตแท้ ๆ ซึ่งเป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ หรือ ตามธรรม นั้น จะตั้งชื่อตามคุณสมบัติแท้ ๆ ของเขา เช่น
วิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม ธรรมธาตุ หมายถึง เป็นธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง
สุญญตา หรือ มหาสุญญตา หมายถึง ความว่างอันไม่มีขอบเขต ดุจความว่างของธรรมชาติ หรือ จักรวาล
พุทธะ หรือ พุทโธ หมายถึง “ผู้รู้” คือ รู้แจ้งถึงใจในสัจธรรมความจริงของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
“ผู้ตื่น” คือ ตื่นจากอวิชชา ซึ่งเปรียบเหมือนคนหลับมายาวนานหลายภพ หลายชาติจนนับไม่ถ้วน
เป็นความหลง หรือ ความไม่รู้ คือ หลงยึดถือสิ่งที่ไม่เที่ยง ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่น ร่างกายและจิตปรุงแต่ง หรือ ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของเที่ยง เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นตัวเรา หรือ เป็นของเรา
หรือ ตื่นจากความหลงยึดถือวิสังขาร ซึ่งเป็นจิตแท้ ๆ หรือใจแท้ ๆ หรือ ธรรมแท้ที่ไม่ปรุงแต่ง ว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา
ซึ่งอวิชชา หรือ ความหลง หรือ ความไม่รู้นี้ เปรียบเหมือน ไม่รู้ว่าเป็นไฟ (ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ หรือ ไฟความโลภ ไฟความโกรธ ไฟความหลง) หรือ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นผิดไปจากสัจธรรมหรือความจริงของธรรมชาติ หรือ เป็นคนโง่ คนหลง คนไม่รู้ จึงหลงไปจับ ไปยึดให้เป็นทุกข์
“ผู้เบิกบาน” คือ ผู้ไม่หลงยึดถือให้เป็นทุกข์ ผู้ไม่ทุกข์ หรือ พ้นทุกข์ เรียกว่า นิพพาน
นิพพาน หรือ นิพพานธาตุ หมายถึง ความไม่มีตัวตนของผู้ทุกข์ เพราะไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ
ฯลฯ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
18 เมษายน 2562