โยม 1 : ได้มาฝึกกับ พ่อแม่ครูอาจารย์... แห่งบ้าน... ตั้งแต่วันที่... ถึงวันที่... ก็ถึงสภาวะ นิพพานถาวร ไม่มีการไปไม่มีการมาอีกค่ะ
แม่... ให้หลักให้ปฏิบัติเหมือนตอนที่ได้สภาวะโสดาบัน (ทิ้งกายก่อนคือ ธาต 4 แล้วต่อจากนั้นเดินจิต ด้วยการเพิกสมมติบัญญัติ เงียบหมดทั้งข้างนอกข้างใน จะเกิดสภาวะ "รู้แต่ไม่คิด" จิตจะเดินวิปัสสนาเอง ปฏิบัติตัวเอง
พออะไรโผล่เข้ามา สติในขันธ์ 5 มันจะตัดโดยอัตโนมัติจนเป็นมหาสติมหาปัญญาเร็วปานปรมาณู
อะไรโผล่เข้ามาให้จิตรู้มันตัดหมด (ไม่ยึด) คือ รู้
อะไรแล้วติดในสิ่งที่รู้นั้นเป็นสมมติ ถ้ารู้อะไรแล้ว
ไม่ยึดติดเป็นวิมุติโดยอัตโนมัติ จนมันถึงความไม่มีอะไรคือเป็นธาตุรู้ที่ไม่มีอวิชชา
จิตมันก็ตัดอีกตัดความไม่มีอะไร (วิสังขาร) คือมันไม่ยึดตัวมันเองคือไม่ยึดรู้ เพราะความไม่มีอะไรธาตุรู้มันก็ไม่ยึดตัวเอง
มันก็เลย วิสังขารไปจนหาที่หมายไม่ได้ แล้วเกิดสภาวะนิพพานถาวร คือความไม่มีอะไรไม่มีการกลับไปกลับมาระหว่างสังขารกับวิสังขาร (นิพพานชั่วคราว) มาเป็นสภาวะที่ขันธ์ 5 ก็ยังทำงานอยู่คู่กับความไม่มีอะไร คือไม่มีความปรุงแต่ง แต่อยู่คนละมิติกัน
จึงกราบส่งการปฏิบัติมายังพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยความสำนึกและระลึกถึงในบุญคุณมิรู้ลืมเจ้าค่ะ
หลวงตา : คงต้องให้ตอบคำถามในใจตนเองให้ได้ว่า สติในขันธ์ห้า สามารถไปตัดอะไรได้หรือ สภาวะวิสังขารสามารถใช้สติซึ่งเป็นขันธ์ 5 ไปตัดได้หรือ จิตที่ไปตัดโน่นตัดนี่เป็นกิริยาของจิต เมื่อมีกิริยาเกิดขึ้นมันจะเป็นวิสังขารได้อย่างไร ในเมื่อสภาวะวิสังขารนั้นเป็นอกิริยา ลองทบทวนด้วยสติให้ดี อ่านใจตนเองให้ขาด ว่าจริง ๆ แล้ว เรามีตัวแอบปรารถนาอะไรหรือไม่ ไปเสวยไปเสพสภาวะนิพพานถาวรปลอมหรือเปล่า
สังเกตให้ดี ๆ ว่ายังมีกิริยาจิตที่แอบกระทำอะไร ๆ ในใจเพื่ออะไรหรือเปล่า แอบนึกคิดตรึกตรองปรุงแต่งฟุ้งในธรรมหรือนิพพานหรือไม่ ยังมีความหงุดหงิดในใจ ยังมีความที่จะเอาอะไรในสิ่งที่ถูกใจ หรือปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ถูกใจ หงุดหงิด รำคาญใจ กังวลใจ มีความฟุ้งซ่านใด ๆ หรือไม่ ยังมีความรู้สึกว่าเรารู้แจ้ง เรานิพพานถาวร เราเป็นพระอรหันต์หรือไม่ เราเหนือกว่าใคร เราต่ำกว่าใคร เราเสมอกว่าใคร หรือไม่ หรือเมื่อพบกับคนใดที่ไม่เคยถูกกันมาก่อน แม้จะเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว ก็ยังรู้สึกเคอะเขินอยู่ในใจหรือไม่ หรือยังมีความอยาก ความไม่อยากใด ๆ หรือไม่
ให้สำรวจตรวจสอบจิตใจของตนเองดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นให้ดี ๆ เพราะเห็นว่ายังมีความหลงอยู่
ทั้งนี้เนื่องจากมีความอยากได้นิพพานมากเกินไป จึงหาทางลัดให้แก่ใจตนเอง
โยม 2 : กราบเรียนหลวงตา
ยิ่งละเอียด คนร้ายยิ่งแอบแฝงอยู่ลึกมากเจ้าค่ะ แทบไม่ออกมาเป็นอาการ ของความร้อน ความมีน้ำหนักของจิต หรือความดิ้นรนเป็นกริยา ให้จับได้คาหนังคาเขาเลยเจ้าค่ะ มันจะรู้สึกเหมือน สังขารทุกอย่าง เป็นเพียงสังขารอยู่ตลอดเวลา
แต่สังเกตได้สองประการว่า ความยึดถือละเอียดยังมีอยู่ คือ
1. มันเหมือนรู้สึกไม่สุขสบายอยู่ลึก ๆ เหมือนมีบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมชาติ แต่ก็บอกไม่ได้ ว่าคืออะไร เพราะสิ่งนั้นไม่ปรากฏอาการเลย
2. ช่วงเวลานั้นจะอ่านธรรมะ ไม่รู้เรื่องเจ้าค่ะ เหมือนมันเข้าไม่ถึงใจ และมีความกระด้าง ไม่ค่อยอยากแตะธรรมะขึ้นมา
จึงสังเกตลึกลงไป ตอนแรกยังสังเกตด้วยตัณหา คือ แฝงความอยาก ที่จะเปลี่ยน ให้ความไม่เป็นธรรม มันเปลี่ยนเป็นธรรมขึ้นมา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เจ้าค่ะ เพราะมันมีตัณหาอยู่ ถึงมันไม่ปรากฏเป็นอาการดิ้นรนเลย แต่มันยังไม่สงบพอจะเห็นต้นตออยู่ดี
สุดท้าย เลยปล่อย ไม่เป็นธรรมก็ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไร หยุดสนิท ไม่ต้องไปทำอะไรให้มันเป็นอะไรขึ้นมาแล้ว ก็อยู่กับความ “ไม่เป็นธรรม” อย่างนั้น จนใจมันยอมรับไปเอง
พอใจยอมรับ มันจึงเกิดความสงบ ขึ้นโดยธรรมชาติ จึงค่อยสังเกตได้ ว่าโจร คือ “ตัวเราที่อยากเป็นธรรมตลอดไป” นี่แหละ
เพราะ “ตัวเรา” มัน “รู้” รู้ดีนักหนา ว่าอะไรเป็นอะไร มันไปคาดหมาย ไปให้ค่าในความ “เป็นธรรม” เจ้าค่ะ
พอตัวเราโดนจับได้เสียแล้ว มันก็ไม่มีอะไรทุกข์ เพราะมันก็คือสังขาร คือ โจรที่มาหลอกทั้งหมดเจ้าค่ะ
สังขารไม่ได้หาย แต่ความยึดถือ จะไปทำอะไรให้เป็นอะไรต่างหากที่หายไป (โดยเฉพาะ จะไปทำให้สังขารกลายเป็นวิสังขาร, ไปทำให้ ความไม่เป็นธรรม เป็นธรรม) ทุกอย่างก็คืนเป็นปกติเลยเจ้าค่ะ
และพิจารณาต่อเนื่อง ถึงสภาวะของโยม ที่ส่งการบ้าน เรื่องนิพพานถาวร
ตั้งข้อสังเกตได้ว่า สภาวะที่เป็นนิพพาน คือ สิ้นยึด มันจะไม่มีความรู้สึก ว่า ตัวเราได้นิพพาน หรือแม้แต่ว่าตัวเราเป็นอะไรทั้งนั้น มันก็คือ รู้เป็นปกติ ว่า สิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ มันอยู่อย่างเป็นปกติ ไปตามสมมติ แค่นั้นเอง และมันไม่ได้ไปสนใจตรวจเช็คด้วย ว่านี่ถาวรหรือไม่
เพราะมันจะเป็นอย่างไร ในขณะปัจจุบัน ก็เป็นอย่างนั้นแหละ มันก็ไม่มีความทุกข์อยู่แล้ว ก็ไม่ได้ไปสนใจเรื่องทุกข์ หรือ ไม่ทุกข์อีก
ตลอดสิบปี ที่เป็นลูกศิษย์หลวงตามา มันพยายามตามหา "ของจริง" จนเข้าใจผิด ไปคว้าเอา "ของปลอม" มานับครั้งไม่ถ้วน เจอ "พระปลอม" มาแทบทุกรูปแบบจริง ๆ
แต่ละครั้งของการโดน 18 มงกุฏหลอก มันเป็นความรู้สั่งสม จนเป็นความ "รู้จัก" ไม่ใช่แค่ "รู้จำ" มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เหมือนเป็นเซียนพระเครื่อง ที่เชี่ยวชาญในการแยก "พระแท้" กับ "พระปลอม" แต่แยก ก็แค่ได้รู้ ว่าเออ ก็พระปลอม มันไม่ใช่พระแท้ แค่ไม่โดนหลอก
แต่มันไม่มีความอยาก ที่จะได้พระแท้มาอยู่ในมืออีกแล้ว เพราะมันรู้แล้วว่า ตัวเรา คนที่จะไปเอาพระแท้ มันไม่ได้มีจริง ๆ เลยเจ้าค่ะ
หลวงตา : สาธุ สาธุ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
20 มีนาคม 2562