ถึง “ใจ” ไร้ตัวตน
เป็น “ใจ” ไร้ตัวตน
“ธาตุรู้” เป็น “ใจ”
หรือ
“ใจ” เป็น “ธาตุรู้”
หรือ
เป็นสิ่งเดียวกัน
เป็นความไม่มีอะไรปรากฏเลย ไม่การเกิด ไม่มีการดับ ไม่อาจถูกทำลายได้ เพราะไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง หรือไม่มีรูปพรรณสัณฐานใด ไม่อาจคิด ปรุงแต่ง แสดงอาการใดได้
ไม่อาจกระเพื่อม หรือเคลื่อนไหวได้ เป็น “วิสังขาร” หรือ
“อสังขตธาตุ” ไม่มีอะไรปรากฏให้รับรู้ทางอายตนะภายใน คือ ประตูตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้เลย
หรือ
มีแต่ความรู้
แต่ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปพรรณสัณฐานใด
ไม่มีการเกิดขึ้น และไม่มีการดับไป
ไม่มีการเริ่มต้น และไม่มีการสิ้นสุด จึงไม่ได้เริ่มต้นที่การเกิด และสิ้นสุดที่การตาย
ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการตั้งอยู่หรือหยุดอยู่
เป็นความไม่มีอะไรปรากฏ
ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญานัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ
หรือ
ทุกอย่างในจักรวาล ที่นอกจาก “ธาตุรู้” หรือ “ใจ” แล้ว ไม่มีอะไรเลยที่ไม่เป็นสังขาร
“สังขาร” ทั้งหมด รวมทั้งขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่เรา ตัวเรา หรือตัวตนของเรา
หรือมีแต่สังขารเท่านั้นที่เกิดขึ้น มีแต่ สังขารเท่านั้นที่ตั้งอยู่ มีแต่สังขารเท่านั้นที่ดับไป
ส่วน “ใจ” หรือ “ธาตุรู้” ไม่เป็นสังขาร ไม่มีอะไรปรากฏเลย ........... จึงพ้นจากทุกข์
ขณะจิตปัจจุบัน หรือขณะใดขณะหนึ่ง ที่เกิดปัญญาตรัสรู้ หรือรู้แจ้งถึงใจไม่กลับคืนอีก ว่า “ใจ” เป็น “ธาตุรู้” หรือเป็น“ธรรมธาตุ” ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่มีอะไรปรากฏเลย ไม่มีการเกิด การดับ ไม่มีตัวตน รูปร่าง หรือรูปพรรณสัณฐานใด ไม่มีความมืด ไม่มีความสว่าง ไม่อาจมีความรู้สึกสุข ทุกข์ ผ่องใส หรือ เศร้าหมอง เป็นเหมือนเป็นความว่างในธรรมชาติ ในอวกาศหรือจักรวาล
ดังนั้นที่ว่าอยู่กับธรรม กินกับธรรม นอนกับธรรม ไปไหนก็ไปกับธรรม ตายไปกับธรรม หรืออยู่กับ “รู้” หรือ อยู่กับ “ผู้รู้” หรืออยู่กับ “ฮู่ซือซือ (ภาษาท้องถิ่นภาคอีสาน)” หรือ สักแต่ว่ารู้ หรือ อยู่กับรู้
ด้วยใจเป็นกลางหรือเป็นอุเบกขา ก็คือ อยู่กับใจ หรือเป็นใจ ที่เป็น “ธรรมธาตุ” นี้ตลอดกาลอย่างเป็นอมตะนิรันดร์
ที่ว่า “ใจเป็นอุเบกขา” คือ ใจที่เป็นธรรมธาตุ หรือ ธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน ไม่อาจมีความรู้สึก นึก คิด ตรึกตรอง ปรุงแต่ง หรือมีอารมณ์ใดได้
ดังนั้นจึงไม่ใช่ ใจที่มีความรู้สึก นิ่ง เฉย สงบ ว่าง ที่เป็น ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นสังขารอายตนะภายนอก ถูกรับรู้ได้ทางประตูใจ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
25 กุมภาพันธ์ 2561