ปฐมเหตุสืบเนื่องจากโอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ และองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
โอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ เรื่อง "ฐีติจิต"
"ฐีติจิต" คือจิตดั้งเดิม ท่านเปรียบว่า อัปปนาสมาธิ อัปปนาจิต และ ฐีติจิต ต่างอยู่ในฐานเดียวกัน แต่มีชื่อต่างกัน อัปปนาสมาธิ เป็นจิตที่แน่วแน่ลงไปจนถึงจิตเดิม "อัปปนาจิต" ก็เหมือนกัน ฐีติจิตก็เหมือนกัน
ฐีติจิตเป็นจิตที่ว่างไม่มีอารมณ์ เป็นจิตเดิมเป็นจิตที่ท่านเรียกว่า "ประภัสสร" แจ้งสว่าง
อัปปนาสมาธินี้ จิตนั้นไม่มีเศร้าไม่มีหมอง ไม่มีมืด ไม่มีมัว เหมือนพระอาทิตย์ท่านส่องสว่างอยู่ แต่ที่พระอาทิตย์จะมืด จะมัวเศร้าหมอง เพราะขี้เมฆเข้ามาบดบังพระอาทิตย์ ไม่ใช่พระอาทิตย์เลื่อนเข้าไปหาขี้เมฆ นี่ท่านเปรียบไว้นัยหนึ่ง
ธรรมชาติของจิตมันเป็นของใสบริสุทธิ์ หากแต่มีกิเลสเข้ามาหมักหมมบดบังจึงได้ฝ้าฟางไป ถ้าใช้สติปัญญาชำระให้ดี ๆ แล้วมันก็จะลงสู่สภาพบริสุทธิ์
อีกนัยหนึ่งท่านเปรียบขี้เมฆนั่นแหละ เปรียบเหมือนอุปกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้แก่โลกธรรมที่ไหลเข้ามาทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เลยให้มัวเมาจิตก็เลยมืดแสงสว่างก็ถูกบดบัง
ฐีติจิตนี้ ถ้าขาดสติปัญญาแล้วถอนขึ้นมาไม่มีสติปัญญานะ เมื่อขาดสติปัญญาพลั้งเผลอถอนขึ้นมา ปล่อยถอนขึ้นมาเฉย ๆ ประสบอารมณ์อะไรเป็นกิเลสไปเลย นี่มันจะหยุดไม่ได้ มันเผลอสติของเรา... ไม่ดีท่านว่า จิตเป็นของพิสดารมากมาย แต่ว่าถ้าฐีติจิตตัวนี้ได้รับการอบรมด้วยสติปัญญาดีแน่ชัดแล้วก็ลงสู่สภาพเดิมอันใสบริสุทธิ์
หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย
ที่มา : FB มหาเจดีย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ภูผาแดง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2969521093093494&id=539401609438800
~~~~~~~~~~~~~~~~
โอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เรื่อง "จิตเดิมแท้"
จิตแท้นี้ต้องเป็น “ความบริสุทธิ์” หรือ “สอุปาทิเสสนิพพาน” ของพระอรหันต์ท่านเท่านั้น นอกจากนี้ไม่อาจเรียก “จิตแท้” อย่างเต็มปากเต็มใจได้ สำหรับผู้แสดงกระดากใจไม่อาจเรียกได้
จิตดั้งเดิม หมายถึงจิตดั้งเดิมแห่ง “วัฏฏะ” ของจิตที่เป็นอยู่นี่ซึ่งหมุนไปเวียนมา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในหลักธรรมว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้ผ่องใส” นั่น! “แต่อาศัยความคละเคล้าของกิเลสหรือกิเลสจรมา จึงทำให้จิตเศร้าหมอง” ท่านว่า
จิตเดิมแท้นั้นหมายถึงเดิมแท้ของสมมุติต่างหาก ไม่ได้หมายถึงความเดิมแท้ของความบริสุทธิ์ เวลาท่านแยกออกมา “ปภัสสรมิทัง จิตฺตัง ภิกฺขเว” “ปภัสสร” หมายถึง ประภัสสร คือความผ่องใส ไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์ นี่หลักเกณฑ์ของท่านพูดถูกต้องหาที่แย้งไม่ได้เลย ถ้าว่าจิตเดิมเป็นจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะมีที่ค้านกันว่า “ถ้าบริสุทธิ์แล้วมาเกิดทำไม?” นั่น แน่ะ!
ท่านผู้ชำระจิตบริสุทธิ์แล้วท่านไม่ได้มาเกิดอีก ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วชำระกันทำไม มันมีที่แย้งกันตรงนี้ จะชำระเพื่ออะไร?
ถ้าจิตผ่องใสก็ชำระ เพราะความผ่องใสนั้นแลคือตัว “อวิชชา” แท้ไม่ใช่อื่นใด ผู้ปฏิบัติจะทราบประจักษ์ใจของตนในขณะที่จิตได้ผ่านจากความผ่องใสนี้ไปแล้วเข้าถึง “วิมุตติจิต” ความผ่องใสนี้จะไม่ปรากฏตัวเลย นั่น! ทราบได้ตรงนี้อย่างประจักษ์กับผู้ปฏิบัติ และค้านกันได้ก็ค้านกันตรงนี้ เพราะความจริงนั้นจะต้องจริงกับใจของบุคคล เมื่อใครทราบใครรู้ก็ต้องพูดได้เต็มปากทีเดียว
ฉะนั้นจิตของพวกเรากำลังตกอยู่ในวงล้อม ทำให้หวาดให้กลัว ให้รักให้ชัง ให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างชื่อว่าเป็นอาการของสมมุติ เป็นอาการของกิเลสโดยสิ้นเชิง ตัวเราเองไม่ได้พลังจิตเป็นของตนเอง มีแต่พลังของกิเลสตัณหาอาสวะ มันผลักมันดันอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วเราจะหาความสุขความสบายมาจากที่ไหน เมื่อธรรมชาตินี้ซึ่งเป็นของแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา ยังมายั่วยุจิตให้เป็นไปตามอีกด้วยโดยที่เราไม่รู้สึก
โลกนี้จะหาความสุขที่ไหน หาไม่ได้ถ้าไม่ได้ถอดถอนธรรมชาติเหล่านี้ออกจากจิตใจโดยสิ้นเชิงเสียเมื่อไร จะหาความทรงตัวอยู่อย่างสบายหายห่วงไม่ได้เลย จะต้องกระดิกพลิกแพลงหรือต้องเอนโน้นเอนนี้ ตามสิ่งที่มาเกี่ยวข้องยั่วยวนมากน้อย ฉะนั้นท่านจึงสอนให้ชำระจิต ซึ่งเป็นการชำระความทุกข์ทรมานของตนนั้นแล
ไม่มีผู้ใดที่จะหยั่งถึงหลักความจริงได้อย่างแท้จริงดั่งพระพุทธเจ้า มีพระองค์เดียวที่เรียกว่า “สยัมภู” โดยไม่ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย ในการแก้กิเลสออกจากพระทัยของพระองค์ ทรงทำหน้าที่ทั้งเป็นนักศึกษาทั้งเป็นครูไปในตัวลำพังพระองค์เดียว จนได้ตรัสรู้ถึงขั้น “ยอดธรรม ยอดคน ยอดศาสดา”
ส่วนทางสมาธิด้านความสงบนั้น ท่านคงได้ศึกษาอบรมมาบ้างเหมือนกันกับดาบสทั้งสอง ไม่ปฏิเสธ แต่นั่นไม่ใช่ทางถอดถอนถึงความเป็น “สัพพัญญู” ได้ เวลาจะเป็น “สัพพัญญู” ก็เสด็จออกจากดาบสทั้งสองไปบำเพ็ญลำพังพระองค์เดียว และทรงรู้เองเห็นเองโดยไม่มีครูสั่งสอนเลย แล้วนำธรรมนั้นมาสั่งสอนโลก
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์
ที่มา : FB Seangaroon Moongthong
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=834134610403847&id=100014219476776
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
การบ้านโยมหลังจากได้อ่านโอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม : หลวงตาเจ้าคะ ที่หลวงตาส่งข้อธรรมของหลวงปู่จวน กับหลวงตามหาบัวเมื่อวานนี้
หลวงปู่จวนท่านกล่าวว่า "ฐีติจิต" เป็นจิตที่ประภัสสร แจ้งสว่าง หลวงตามหาบัวท่านกล่าวว่า ประภัสสรหมายถึงผ่องใส แต่น่าจะเป็นความหมายเดียวกันใช่ไหมเจ้าคะ
แต่หลวงตามหาบัวท่านได้กล่าวเพิ่มว่า "ความผ่องใสนั้นแลเป็นอวิชชา" นั่นหมายความว่าฐีติจิตยังไม่ใช่นิพพานใช่ไหมเจ้าคะหลวงตา
กราบขอหลวงตาโปรดเมตตาด้วยเจ้าค่ะ
หลวงตา : “ฐีติจิต” คือจิตดั้งเดิมตั้งแต่มีจิตเกิดขึ้นมาในจักรวาลพร้อมกับอวิชชา คือ ความหลงยึดถือตัวมันเอง ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นของของเรา
เพราะความไม่รู้สัจธรรมความจริง (อวิชชา) หรือไม่รู้จักว่า “จิตเดิมแท้” หรือ ธาตุรู้บริสุทธิ์ (ไม่มีอวิชชา) ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ไม่ใช่อรูปฌาน เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม เป็นสุญญตา ไม่มีตัวตนรูปลักษณ์ ไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใด ไม่อาจมีความรู้สึก นึก คิด ตรึกตรอง ปรุงแต่งได้ ไม่เกิดดับไม่อาจถูกรู้ได้ทางอายตนะภายใน
*****ไม่มี "สังขาร" ผสมปนอยู่เลยแม้น้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง ปรมาณูหนึ่ง
ส่วน "อวิชชา" ที่ติดมากับจิตดั้งเดิมเป็น "สังขาร" คือ ความปรุงแต่งหลงยึดถือจิตดั้งเดิม หรือฐีติจิต ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นของของเรา
*****ครั้นเกิดปัญญาวิมุตติ รู้แจ้งความจริงดังกล่าวขึ้นมาในขณะจิตใด ก็จะถอนความหลงผิด (อวิชชาดับ) ที่ติดมากับฐีติจิต หรือ จิตดั้งเดิมจนหมดสิ้น เหลือแต่ฐีติจิตบริสุทธิ์ มีชื่อสมมุติว่า “นิพพาน” หรือ “นิพพานธาตุ”
ดังนั้น จิตดั้งเดิม หรือ ฐีติจิต แม้จะเป็นประภัสสรเปรียบเหมือนกับแร่ทองคำ แต่ก็ไม่ได้บริสุทธิ์มาตั้งแต่แรก ครั้นเอาสิ่งเจือปนออกได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ส่วนที่เหลือจึงเป็นธาตุบริสุทธิ์
ตราบใดถ้ายังมีความหลงคิดปรุงแต่งว่า มีเราเป็นตัวตน (ไม่เห็นว่าเป็นสมมุติ) ก็ยังไม่พ้นทุกข์ (ไม่นิพพาน) เพราะจะมีตัวเรามีกิเลส หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
แล้วจะหลงมีเราเป็นตัวตนดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อให้ตัวเราได้สมใจอยาก เมื่อยังไม่สมใจอยากเสียที ความทุกข์ก็ยังไม่สิ้น
ไม่ใช่หลงมีเราเป็นตัวตน ดิ้นรนไปจนพบนิพพาน (พ้นทุกข์) แต่จะพ้นทุกข์ เพราะสิ้นหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของของเราที่ติดมากับจิตดั้งเดิม จิตดั้งเดิมจึงจะบริสุทธิ์ เป็นนิพพานธาตุ
แต่ถ้ายังหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของของเรา แม้จะดิ้นรนทะยานอยากอย่างแรงกล้าเท่าใด ก็จะหลงเอาตัวเราดิ้นรนพยายามกระทำอะไรเพื่อให้ตัวเราได้รับผลประโยชน์ เช่น พ้นทุกข์
แต่ตราบใดถ้ายังมีอวิชชา หลงยึดถือเป็นเรา ตัวเรา ของเราอยู่ จิตก็จะยังไม่บริสุทธิ์ หรือ ยังไม่นิพพาน
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
3 เมษายน 2563
~~~~~~~~~~~~~~~